'ชารัด เมห์โรทรา' ถอดสูตรซีอีโอ ‘คิดบวก’ บนเส้นทาง ‘ท้าทาย’ และ ‘เดิมพันสูง’

'ชารัด เมห์โรทรา' ถอดสูตรซีอีโอ ‘คิดบวก’  บนเส้นทาง ‘ท้าทาย’ และ ‘เดิมพันสูง’

รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชารัด เมห์โรทรา” ซีอีโอ ดีแทค ถึงมุมมอง วิธีคิดทำธุรกิจ เรื่องราวระหว่างทาง และสูตรความสำเร็จแบบฉบับ ซีอีโอ บนสมรภูมิธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เต็มไปด้วยความท้าทาย และการเดิมพันที่สูง

“ชารัด เมห์โรทรา” นักบริหารรุ่นใหญ่ มีประสบการณ์ช่ำชองในบริษัทโทรคมนาคมของเอเชียมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ Ericsson Aircel และ เทเลนอร์ เมียนมาร์ ย้อนไทม์ไลน์กลับไป เขาเกิดและเติบโตในรัฐอุตรประเทศของอินเดีย ห่างจากนครนิวเดลีประมาณ 500 กิโลเมตร จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยปูเน่ (Pune) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า และจบปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจและการตลาด

วันนี้ “ชารัด” นั่งบริหารงานในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค มากว่า 2 ปี หลังเข้ามารับตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2020
 

ชีวิตในวัยเด็กของ ชารัด น่าสนใจไม่น้อย “อินเดีย” บ้านเกิด บ่มเพาะให้เขาต้องแข่งขัน และมีทักษะที่หลากหลาย ปรับตัวได้เร็วในทุกจังหวะสถานการณ์ 

"ผมมาจากอินเดีย ซึ่งวิถีชีวิตจะเร็วกว่าที่นี่ ตั้งแต่เด็ก เราถูกสอนให้ต้องแข่งขัน เราจะทำหลายๆ สิ่งด้วยทักษะหลากหลาย เหมือนเราถูกสร้างมาให้ปรับเข้ากับวิถีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว บางที เราก็นึกถึงผลลัพธ์มากกว่าคิดถึงปัญหา สำหรับผล สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ ผู้คน และทีมเวิร์ค เราจะสร้างทีมงานที่ใช่ได้อย่างไร เราจะสนับสนุนพวกเขาได้อย่างไร เราจะเสริมพลังให้เขาได้อย่างไร เพื่อให้เขาสามารถทำงาน ใครที่จะสามารถนำทีม ทำอะไรก็ตามเพื่อลูกค้าให้ได้"

ชารัด เชื่อมาตลอดว่า การเปลี่ยนแปลงย่อมมาถึงเร็วกว่าที่คิดได้อยู่เสมอ เขาจึงนำมาปรับใช้ในธุรกิจ ที่บางครั้งอาจต้องสร้างเซอร์ไพร์สให้ลูกค้าบ้าง
 

“ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงเร็ว ยิ่งกว่าที่ใครจะนึกออก สิ่งที่เราต้องการคือ คน 2 กลุ่ม ที่มีความชำนาญปราศจากความกลัว เขาสามารถทดลองการทำงานด้วยความเปิดกว้าง โปร่งใส และทำสิ่งต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพราะบางทีลูกค้าก็ปรับตัวเร็วกว่าเราอีก สิ่งที่เราต้องทำ คือ ตามลูกค้า หรือบางครั้งเราก็ต้องเซอร์ไพรส์ลูกค้าบ้างผมเชื่อว่า ผู้คนและทีมเวิร์คที่ทำงานร่วมงานกันได้อย่างดีสำคัญมาก”

จุดเปลี่ยน แข่งขัน และการสู้ ‘ดิสรัป’ 

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากการถูกเทคโนโลยียุคใหม่ ดิสรัปอย่างรุนแรง ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยนวิธีคิด ธุรกิจโทรคมนาคมเผชิญความท้าทายอย่างสูง บีบให้ผู้เล่นในตลาดต้องพลิกกลยุทธ์

“ชารัด” กุมบังเหียนดีแทค ผู้เล่นอันดับ 3 ในตลาดที่มีมูลค่าตลาดมหาศาลหลายแสนล้านบาท ท่ามกลางความ “ร้อนระอุ” ของสมรภูมินี้ที่ขับเคี่ยวกันหนัก จนเส้นทางธุรกิจของดีแทคกำลังเดินสู่จุดพลิกผันครั้งสำคัญ!! 

 “การแข่งขันมีอยู่ในทุกที่ ที่นี่ก็เช่นกัน ในฝั่งของโทรคมนาคม คุณมีผู้ให้บริการราว 4 ราย ถ้าดูที่เมียนมา เขาก็มี 4 เช่นกัน และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ด้วยรูปแบบการใช้งานของลูกค้า ด้วยการพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทอย่างเรา ดีแทคจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีให้เร็วยิ่งกว่าเดิม ซึ่งมันอาจต่างกับในเมียนมา ด้วยความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภค”

ชารัด สะท้อนมุมมอง การแข่งขัน โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทย เขามองว่า ผู้บริโภค มีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับดีมาก และนับเป็นความต่างที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย

“ผู้บริโภคไทยเป็นคนใช้งาน และมีความรู้ด้านเทคและดิจิทัลดีมาก เรานอกจากเป็นผู้ให้บริการด้านเสียงและข้อมูล แต่สิ่งที่เราเน้นยิ่งกว่า คือ บริการเสริมที่ตามมา ให้เป็นมากกว่าบริการเชื่อมต่อ เช่น เกม แพลตฟอร์มเติมเกม ประกันภัย ความคุ้มครองประกันภัย ความบันเทิง ภาพยนตร์ ดีแทครีวอร์ด นี่คือความต่างจากประเทศอื่นๆ ในตลาดเอเชีย”

ชารัด บอกว่า ความกระหายใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึง “ข้อมูล” ดันให้ตลาดประเทศไทยก้าวไปได้เร็วเทียบชั้นกับตลาดระดับโลก เป็นเหตุผลสำคัญที่ดีแทคต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“เราน่าจะก้าวไปในจังหวะที่เร็วมาก ซึ่งสามารถเทียบกับตลาดสแกนดิเนเวียนได้เลย ที่ซึ่งมีการใช้งานข้อมูลมหาศาล และผู้คนกระหายที่จะใช้ข้อมูล เพราะอย่างนั้น ดีแทคในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ หรือแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบ เราจึงต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าของเราได้ในสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ความต่างของตลาด ทำให้ธุรกิจต้องรู้ “วิธี” เจาะกลุ่มลูกค้า ชารัด บอกว่า ถ้าพูดถึงอินเดีย ตลาดไปเร็วมาก ด้วยสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ด้วยจำนวนประชากรสูง ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ และการแข่งขันในตลาดนั้นก็สูง ส่วน เมียนมา ซึ่งปิดประเทศมานานหลายปี ผู้คนมีความต้องการที่จะเชื่อมต่อกับระบบสังคม กับชุมชน กับประเทศภายนอก เลยมีพฤติกรรมที่ต่างออกไป

“แต่เมื่อพูดถึงประเทศไทย ผมคิดว่าไทยเป็นสังคมที่เติบโตมาก ตัวเลือกด้านดิจิทัลไปเร็วมาก คนไทยเปิดรับเต็มที่สำหรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เห็นได้จากการใช้งานข้อมูล เวลาหน้าจอที่คนใช้งานต่อวัน ซึ่งพอๆ กับที่มาเลเซีย หรือมากกว่ามาเลเซีย และประมาณฟินแลนด์ มีการใช้เวลากว่า 5 - 6 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมากในระหว่างวัน การใช้งานเฉลี่ยกิกะไบต์สำหรับคนไทยก็เป็นจำนวนที่เยอะมาก”

Passion เทคโนโลยีที่เต็มเปี่ยม 

“ชารัด” บอกว่า เขามี Passion ในเรื่องเทคโนโลยีมาตลอด ความเคลื่อนไหวเทคโนโลยีวันนี้ ส่งเสริมผู้คนได้เร็วมาก

"ก่อนจะมาประจำที่ไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมเป็นซีอีโอที่เมียนมา สิ่งที่ทำให้ผมทึ่ง คือ การที่คนเมียนมารับเอาเทคโนโลยี และโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเชื่อมต่อกับโลก เพราะเขาปิดประเทศมานาน พอเราเปิดเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้คนตอบรับอย่างรวดเร็ว และเชื่อมต่อกับโลก ในพื้นที่การศึกษาต่างๆ และแน่นอนเศรษฐกิจด้วย เมื่อผมย้ายมาที่เมืองไทย ผมมีความสุขมาก และเห็นว่า สังคมไทยมีการใช้งานดิจิทัล เพื่อการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด เครือข่ายดีแทคก็ยังใช้งานได้ดี แม้ในพื้นที่การใช้งานสูง สิ่งที่เราเห็น คือ การใช้งานในพื้นที่ต่างจังหวัดเริ่มเติบโตมากขึ้น และเห็นว่าผู้คนปรับใช้ช่องทางดิจิทัลกันอย่างรวดเร็วมาก ฉะนั้น ผมพูดได้ว่า เทคโนโลยีเคยเป็น เป็น และยังคงเป็นแพชชั่นของผมเสมอ ที่จะได้เห็นทิศทางของทั้งโลกที่วิวัฒน์ไป และคอยดูว่าจะเกิดอะไรใหม่ขึ้นอีก"

ซีอีโอ ในจังหวะ “โรคอุบัติใหม่”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 “ชารัด” เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ในจังหวะที่โลกกำลังเผชิญกับ “โรคอุบัติใหม่” โควิด-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก สะเทือนไปถึงวิธีคิดของธุรกิจ รวมถึงวิถีการทำงานแบบใหม่ แน่นอนว่า ดีแทค ต้องปรับวิธีการทำงานด้วยเช่นกัน

“เราเริ่มมาตั้งแต่ตอนโรคระบาดเกิดขึ้นตอนปี 2020 นี่ก็มากกว่า 2 ปีแล้ว เราปรับตัวรับวัฒนธรรมการทำงานจากที่บ้านตั้งแต่แรกๆ เลย เราผลักดันทีมของเรา เพราะสิ่งที่เราต้องทำต่อเนื่องก็คือทำเพื่อลูกค้า และทำให้ดียิ่งขึ้น ผมว่า สำหรับเรา เราทำได้ค่อนข้างดีเลยครับ เราทำงานกันอย่างมีคุณภาพ ได้ประสิทธิภาพเหมือนเดิม และแน่นอน เรารับมือกับความเหนื่อยล้าที่ก่อตัวขึ้นในสถานการณ์แบบนี้จัดเซสชั่นสร้างปฏิสัมพันธ์กับพนักงาน เราทำได้ดีเลย และเราก็ยังทำต่อไป”

ชารัด มองว่า สิ่งที่ได้เห็นจากพนักงานของดีแทคในห้วงเวลาเช่นนี้ คือ การปรับตัวรับสถานการณ์ใหม่ได้เร็วมาก ทำงานแบบไฮบริดแบบวิถีใหม่ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ มีออฟฟิศแบบอนาคตเป็นศูนย์กลาง

“เราใช้โอกาสในช่วงโควิดปรับปรุงออฟฟิศเรา เราปรับให้ออฟฟิศ Lean ขึ้น มีพื้นที่ทำงานร่วมกันมากขึ้น คุณจะเข้าออฟฟิศหรือไม่ก็ได้ คุณทำงานผ่านเครื่องมือสื่อสารทางไกล ประชุมผ่าน Zoom ไม่ว่าจะติดต่อกันเองในเมืองไทย ติดต่อระหว่างออฟฟิศที่สิงคโปร์ หรือนอร์เวย์ เราได้เปลี่ยนผ่านโดยใช้โควิดเป็นโอกาส ทั้งในด้านบริษัท ด้านแบรนด์ และด้านผู้คน ฉะนั้น เราก็ไม่ได้ชอบโควิดหรอก แต่เราก็ได้ใช้โอกาสจากมันได้ค่อนข้างดี สำหรับทั้งเราและสังคมไทย”

สิ่งสำคัญที่ซีอีโอยุคใหม่ “ต้องมี” 

ประสบการณ์​ “ซีอีโอ” ในบริษัทใหญ่ระดับโลก ทำให้ “ชารัด” มองว่า 2 สิ่งสำคัญที่ซีอีโอยุคใหม่ต้องมี คือ Agility (ความคล่องตัว) และ Empathy (ความเข้าใจผู้อื่น)

"ผมคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเป็นซีอีโอยุคใหม่ มี 2 สิ่ง คือ Agility และ Empathy เมื่อก่อนการเป็นซีอีโอ คุณต้องแบบ ผมเป็นผู้สั่งการ ผมเป็นโค้ช ผมเป็นเจ้านาย นั่นก็อาจจะโอเคนะครับ แต่สิ่งที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งสัมพันธ์กับวันนี้และพรุ่งนี้ คือ คุณคล่องตัวได้แค่ไหน คุณยืดหยุ่นได้แค่ไหน คุณมีความเป็นมนุษย์แค่ไหน คุณเข้าใจผู้อื่นแค่ไหน เพราะซีอีโอในฐานะผู้นำ ในฐานะต้นแบบ คนจำนวนมากมองมาที่คุณ แล้วอะไรที่ผู้คนสามารถเรียนรู้จากคุณได้ ถ้าคุณกำลังยิ้มอยู่ ทุกคนก็คิดว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี ถ้าคุณขึงขังขึ้นมา คนก็จะคิดว่า โอ้ มีอะไรพลาดหรือเปล่า 

 ประเด็นของผม คือ เราอยู่ที่นี่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน เราอยู่เพื่อสร้างวัฒนธรรมความคล่องตัว และความยืดหยุ่นให้ผู้คน เพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าพวกเขายืดหยุ่นและคล่องตัว เขาก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้ลูกค้าได้ ผมว่าหน้าที่ของซีอีโอ อาจไม่ต้องแข็งแกร่งขนาดนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ คือ ทำให้ทุกสิ่งง่ายสำหรับทุกคน ด้วยการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ด้วยการใช้ความคล่องตัว และความเข้าใจผู้อื่นเป็นศูนย์กลาง" 

เมื่อถามว่า แล้วอะไร คือ สูตรความสำเร็จของซีอีโอในแบบฉบับของ “ชารัด”

"สำหรับผมนะครับ การเติบโต คือความสำเร็จ เรา และทุกคนต้องการเติบโต ทุกบริษัทต่างต้องการเติบโต ผมจึงนิยามความสำเร็จด้วยการเติบโต และนี่คือสูตรที่ดี ถ้าสมาชิกในทีมทุกคน ผู้ที่เข้าใจ ผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเติบโต ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ได้ทุกฝ่าย สิ่งที่เราทำ คือ เราเป็นบริษัทที่มีการเติบโต เราต้องแน่ใจว่าพนักงานของเราได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งหัวหน้าและสมาชิกในทีม เราสร้างการทำงานที่คล่องตัว บนพื้นฐานของสิ่งที่ต้องพัฒนา ในทุก ไตรมาส ทุกเดือน ทุกวัน คุณต้องทำให้ลูกค้า พวกเขาคอยดูคุณอยู่ ความสำเร็จเป็นเรื่องของการเติบโตสำหรับทุกคน หมายถึง การสนับสนุนทุกคน สะท้อนผ่านความคล่องตัวและยืดหยุ่น ดึงทุกคนเข้าหากัน และพูดได้ว่า เยส !สำเร็จแล้ว อย่างที่เราพูดกันที่ดีแทค สู้สุดใจ !"

คำว่า “สำเร็จ” ของ ชารัด คือ คำว่า Growth หรืออัตราการเติบโต ไม่ใช่แค่ในองค์กร แต่หมายถึงสังคม ลูกค้า กลุ่มเป้าหมาย ตราบใดที่ยังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง นั่นคือ ความสำเร็จ 

แรงบันดาลใจ-แรงผลักดันในทุกเช้า

ก่อนเริ่มต้นการทำงานในแต่ละวันของ “ชารัด” เขามักสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เพิ่มพลังบวกให้การทำงานด้วย กิจกรรม “โยคะ” ทุกเช้า

“สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ คือ ในทุกวัน คุณจะมีคติประจำใจว่าจะทำในสิ่งที่แตกต่าง และแน่นอน ผมเริ่มต้นวันด้วยโยคะ ที่ผมเชื่ออย่างมากว่า โยคะ คือ สิ่งหนึ่งที่รักษาให้ภาวะภายในของคุณแข็งแรง และในขณะเดียวกันก็ทำให้คุณเห็นความเป็นไปได้มากมาย ฉะนั้น ผมจึงต้องเริ่มด้วยโยคะในทุกเช้า ขึ้นอยู่กับว่าผมจะมีเวลาเท่าไร นั่นทำให้ผมมีพลังมากมาย และผมก็ดื่มน้ำเยอะมาก ไม่มีต่อรอง ดื่มน้ำ 1 ลิตร หลังโยคะเลย 1 ลิตรจะประกอบไปด้วยน้ำร้อน 30%นั่นช่วยให้ผมเริ่มต้นวันที่ดี อย่างที่ผมบอกไปว่าถ้าคุณมีพลังบวก ก็เหมือนได้ชาร์จพลังจากข้างใน ผมก็แน่ใจได้เลยว่าจะเป็นวันที่ทำงานได้อย่างดี เพราะคุณทำในสิ่งที่แตกต่างและดีอาจเป็นคำตอบสั้นๆ ในการที่ทำสิ่งต่างๆ ให้เรียบง่ายสม่ำเสมอ”

สร้างทีม สร้างผู้นำ สร้างซีอีโอ 

เส้นทางซีอีโอของ “ชารัด” ผ่านทางโค้ง ทางแยก มีอุปสรรคขวากหนามระหว่างทางมากมาย สิ่งที่หล่อหลอมเขาล้วนมาจากอดีต และการทำงาน

"สิ่งที่คุณเป็นในวันนี้มาจากอดีต มาจากการทำงาน จากสิ่งที่ได้พัฒนามา ผมมีแพชชั่นมาตลอดเกี่ยวกับผู้คน เราจะสร้างพลังให้ผู้คนได้อย่างไร และผู้คนจะสามารถเป็นผู้นำสำหรับวันพรุ่งนี้ได้อย่างไร ผมรู้สึกโชคดีมาก เพราะผมได้ทำงานในหลายประเทศ ในบริษัทที่ต่างกัน ผมมีโอกาสเสมอในการสร้างทีม การทำงานร่วมกับทีม การสร้างผู้นำ 

กุญแจสำคัญสำหรับผมคือ ผมจะสร้างผู้นำจำนวนมากได้อย่างไร ผมมักทำงานกับแผนสร้างความสำเร็จสำหรับทีมงาน ผมต้องมั่นใจว่าทีมจะได้พัฒนาทักษะเกี่ยวกับการเรียนรู้ ให้เขามีทักษะเพื่อให้การทำงานลุล่วง ผมมีความสุขมากในทุกตลาดที่ผมได้ทำงานด้วย พวกเขาได้รับการส่งเสริม ได้รับการฝึกฝน พวกเขาได้เป็นซีอีโอในประเทศต่างๆ มีผู้นำมากมายที่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยการทำงานร่วมกัน นั่นคือความสุขของผม" 

ชารัด เชื่อว่า การมีมุมมองที่เป็น “บวก” ร่วมด้วย จะยิิ่งช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ต่อยอด ดึงอดีตที่ผิดพลาดมาสู่บทเรียน

"ถ้าคุณเอาแต่จำสิ่งที่ไม่ค่อยดี ผมก็ไม่คิดว่าคุณจะก้าวหน้าได้ สิ่งเหล่านั้นมีอยู่เพื่อให้เรียนรู้ ประเด็นที่ผมจะบอก คือ การเป็นคนมองโลกด้านบวกอย่างผม และการตอบรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างที่คุณเห็นเมตาเวิร์สก็กำลังมา ทุกบริษัทก็เริ่มบุกเบิกเมตาเวิร์ส VR ก็กำลังมา การที่ Snapchat หรือ Facebook กำลังพัฒนา VR การที่ Apple ออกโมเดลใหม่บ่อยขึ้น สิ่งที่ผมเห็น คือ มีอะไรให้เรียนรู้มากมายในอีโคซิสเต็ม คุณจะเรียนรู้อย่างไร พัฒนาเพื่อลูกค้าของคุณ นั่นทำให้คุณลืมอดีตได้เร็วมาก มันบอกคุณว่า อะไรที่ไม่ทำ และต้องทำในขณะเดียวกัน"

[สามารถรับชม รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้ผ่านทาง https://www.facebook.com/watch/?v=402109398440382]