คำต่อคำ ‘ศุภชัย’ เปิดมุมมอง ดีลควบ ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำทำได้ ไม่ขัดกฎหมาย

คำต่อคำ ‘ศุภชัย’ เปิดมุมมอง ดีลควบ ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำทำได้ ไม่ขัดกฎหมาย

“ศุภชัย” เปิดมุมมองต่อดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” แบบคำต่อคำ ชี้สามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุมัติ ไม่ขัดต่อกฏหมาย ระบุกสทช.มีอำนาจในการสร้างเงี่อนไข ลดผลกระทบทางลบ เพิ่มผลกระทบทางบวก ย้ำไม่คิดปลดพนักงาน ไม่ขึ้นราคา พร้อมทำงานกับกสทช. เพื่อประโยชน์สูงสุดผู้บริโภค-ประเทศ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดมุมมองเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูและดีแทคว่า ตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องขออนุมัติจากทางกสทช. แต่กสทช.มีอำนาจในการสร้างเงี่อนไขที่จะลดผลกระทบทางลบ และเพิ่มผลกระทบทางบวก ซึ่งทางบริษัทพร้อมจะทำงานร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและผู้บริโภค

“การควบรวมไม่ใช่การเข้าซื้อกิจการ กสทช.จึงไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ แต่มีอำนาจในการสร้างเงื่อนไข ซึ่งหากไม่เห็นชอบและจะโต้แย้งต้องไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งไม่มีผู้ให้บริการรายใดอยากจะไปถึงจุดนั้น ดังนั้นหวังให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อเวิร์คออนเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมและประเทศชาติดีขึ้นกว่าเดิม”

เขาเผยว่า แม้ว่าตามกฎหมายสิทธิของการควบรวมมีอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องการที่จะดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงความเป็นห่วงของกสทช.หรือความกังวลสาธารณะ

หวังให้ทางกททช.ดำเนินการตามครรลองของกฎหมาย เป็นไปกรอบเวลาที่กำหนด โดยยอมรับว่ามีความกดดันและหวังว่าทางผู้กำกับดูแลจะได้เห็นว่าทางบริษัทนั้นกดดันในเรื่องนี้เช่นกัน

หวั่นกระทบความเชื่อมั่น-ตลาดทุน

ศุภชัยย้ำว่า ดีลครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการเทคโอเวอร์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นกว่า 90% โดยหลังจากการควบรวมแล้วสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละบริษัทจะอยู่ที่ราว 30% เท่ากันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะกลายเป็นบริษัทมหาชนที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่สัดส่วนที่ชัดเจนจะขึ้นอยู่กับกระบวนการเทนเดอร์ต่อไป

ขณะที่ การตั้งบริษัทใหม่ คือการนำเอาทรัพย์สินของทั้งสองบริษัทใส่เข้าไป และให้สิทธิ์ทั้งสองบริษัทได้สิทธิเท่ากัน เป็นการนำสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งสององค์กรมาผนวกรวม ซึ่งผู้บริโภคเกือบครึ่งประเทศจะได้รับประโยชน์ในทันที

ด้านแนวทางการบริหารองค์กร จะมีการเลือกคนที่ดีที่สุดมาบริหาร เบื้องต้นอาจมีการนำคนของทั้งสองฝ่ายมาผสมกัน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องเลือกคนที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดมาบริหาร ด้านพนักงานจะไม่มีการไล่คนออกแน่นอน

โดยสรุป ขั้นตอนขณะนี้ด้านผู้ถือหุ้นผ่านกระบวนการครบหมดแล้ว การศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจทำไปแล้วเกือบ 100% ที่ยังรออยู่คือขั้นตอนของหน่วยงานกำกับดูแลซึ่งยังรอให้ทางกสทช.พิจารณา

หากนับจากที่ยื่นเรื่องไปเมื่อเดือนม.ค. ระยะเวลาการพิจารณาจะอยู่ภายใน 90 วัน ซึ่งตามกำหนดคือภายในเดือนก.ค. ทว่าเห็นว่ากสทช.ที่เข้ามาใหม่ต้องการเวลาที่จะศึกษาเพิ่มเติม

“ผมเข้าใจว่าขณะนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน และกสทช. ชุดใหม่ที่เข้ามาต้องการเวลา ซึ่งทางเราพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน และหวังว่าจะเกิดขึ้นเร็ว มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุน นักลงทุนไทย ต่างประเทศ สิทธิประโยชน์ ผลประโยชน์และกระทบต่อการให้บริการผู้บริโภค”

ยันไม่คิดขึ้นราคา มีกสทช.ควบคุม

ส่วนความกังวลของผู้บริโภคเรื่องการขึ้นราคาค่าบริการ คงไม่เกิดขึ้น เพราะมีกสทช.คอยควบคุม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีราคาพื้นฐานตั้งไว้เบื้องต้นอยู่แล้ว เรื่องนี้หน่วยงานผู้กำกับดูแลมีอำนาจในการควบคุม ซึ่งหากฝ่าฝืนสามารถยึดใบอนุญาตได้ อีกทางหนึ่งในแง่กลไกตลาดด้วยการแข่งขันที่จะสูงขึ้นคงไม่มีการเพิ่มราคา

ขณะที่ ประเด็นเรื่องการผูกขาดตลาด และความกังวลว่าเมื่อรวมกันแล้วสัดส่วนลูกค้าจะเกิน 50% เรื่องนี้ไม่จริง เนื่องจากแต่ละปีมีลูกค้าข้ามค่ายกว่า 30% เมื่อรวมแล้วการทับซ้อนจะหายไป จำนวนลูกค้าจะลดลงและน่าจะใกล้เคียงกับทางเอไอเอสที่มีสัดส่วนอยู่กว่า 40%

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับความจริงว่าสมรภูมิการแข่งขันได้เปลี่ยนไปนานแล้ว มีการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันจากแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ไม่ใช่จากผู้ให้บริการ 3 รายลดเหลือสองราย ในความเป็นจริงจำนวนผู้เล่นมีมากกว่านั้น

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการมีศักยภาพการแข่งขันน้อยลง ถูกท้าทายด้วยสมรภูมิการแข่งขันที่เปลี่ยนไป ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น รายได้อุตสาหกรรมมือถือลดลงต่อเนื่อง ทว่ายังจำเป็นต้องมีการลงทุนที่สูงขึ้น จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ 4จี และ 5จี ฯลฯ

“โทรคมนาคมเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ต้องใช้ต้นทุนที่สูง หากแข็งแรงไม่เท่ากันก็คงไ่ม่ได้ทำให้มีการแข่งขันที่ดี ดังนั้นมีสองรายที่แข็งแรง ย่อมดีกว่าหนึ่งรายแข็งแรง แต่อีกสองรายอ่อนแอ”

ท้ายที่สุด หากดีลนี้ไม่สำเร็จหรือการควบรวมไม่เกิดขึ้น จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยถดถอยลง ศักยภาพการลงทุนของผู้ประกอบการรายที่อ่อนแอลดลง และไม่ส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ทางเอ็นทีก็ได้ทำมาแล้ว เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่ทางกสทช.จะพิจารณา

 

เชื่อ ‘ประชาชน-ประเทศ’ ได้ประโยชน์

ศุภชัย เปิดมุมมองว่า การควบรวมในครั้งนี้จะทำให้บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นมีสถานีฐานครอบคลุมกว่า 49,800 สถานี ลดข้อจำกัดการลงทุนที่ทั้งสองบริษัทไม่ได้มีภาวะที่แข็งแรงด้านการเงิน  ทำให้การให้บริการดีขึ้น เพิ่มความแข็งแรงด้านนวัตกรรม วิศวกรรม มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

“หากรวมกันแล้วที่จะทำได้แน่ๆ คือ เชื่อมโยงโครงข่าย การลงทุนที่ทับซ้อนจะหายไป และไม่ใช่เพียงการโรมมิ่ง แต่จะมีการทำเอ็มวีเอ็นโอ ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสุงสุดของการใช้โครงข่าย”

นอกจากนี้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม (Inclusive Capital) พร้อมเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปเป็นดิจิทัลฮับของอาเซียน รวมถึงสนับสนุนการขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับโลก(Sustainability)

พร้อมระบุว่า การผนึกกำลังกันจะยิ่งสร้างผลิตผลที่สูงกว่าเดิม หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สาม สี่ ห้า เป็นความท้าทายที่หากผ่านไปได้ย่อมสร้างความแข็งแรงและประโยชน์ต่อประเทศที่มากขึ้น อยากให้ติดตามและมาวัดผลกันต่อไป

ไทยศักยภาพสูง ผู้นำดิจิทัลอาเซียน คำต่อคำ ‘ศุภชัย’ เปิดมุมมอง ดีลควบ ‘ทรู-ดีแทค’ ย้ำทำได้ ไม่ขัดกฎหมาย นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า ไทยเป็นเประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สูงมาก ขณะนี้นับว่าอยู่ในต่ำแหน่งผู้นำด้านดิจิทัลของตลาด จากตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสัดส่วนกว่า 9 ใน 10 ที่ซื้อสินค้าบนออนไลน์ ปีที่ผ่านมามีตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้ดิจิทัลที่สูงมาก ทั้งผู้ค้าต่างปรับตัวสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

เทเลนอร์ มีมุมมองว่าไทยตลาดเชิงกลยุทธ์ที่สามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำด้านดิจิทัลอีโคโนมีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แต่ทั้งนี้ขณะนี้ยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ จากสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็มที่รั้งอันดับ 11 ตามหลังหลายๆ ประเทศ หรือจากเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดที่เข้ามาในภูมิภาคำทยได้รับเพียง 3% และยังมียูนิคอร์นเพียง 3 รายเท่านั้น (Bitkub, Ascend และ Flash Express)

สำหรับการควบรวมนี้จะทำให้ภาพรวมอีโคซิสเต็มของประเทศไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถปิดจุดอ่อนในส่วนนี้ได้ โดยเบื้องต้นงานที่จะทำร่วมกันคือ การสนับสนุนสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็มไทย

บริษัทเตรียมลงทุนกว่า 7.3 พันล้านบาทเพื่อสร้างธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่จะเน้นด้านศูนย์กลางนวัตกรรมที่จะสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการเดินทางสู่การสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จระดับภูมิภาค ด้วยศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีในอนาคต

โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การผลักดันให้ธุรกิจไทยเติบโตได้ในระดับโลก โดย 4 แกนที่จะโฟกัสคือ เทคโนโลยี 5จี เอจคลาวด์ ไอโอที และไซเบอร์ซิเคียวริตี้

สมรภูมิเปลี่ยน โทรคมต้องปรับ

ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่จะสามารถได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางเทคโนโลยี (The perfect tech storm)

โดยรัฐบาลไทยและอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางด้านดิจิทัล ส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลและสร้างงานใหม่ๆ ในระบบนิเวศโทรคมนาคม-เทคโนโลยี

ธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค

“เราไม่อาจมองภาพรวมการแข่งขันแบบเดิมได้อีกต่อไปแล้ว ทุกคนต้องเติบโตด้วยพาร์ทเนอร์ชิพ มีทั้งคู่แข่งและคู่ค้าซึ่งทั้งคู่แข่งและคู่ค้าอาจเป็นรายเดียวกันก็ได้”

สำหรับเทเลนอร์ มุ่งส่งมอบบริการที่น่าสนใจในหลากหลายรูปแบบ ราคาเหมาะสม ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคชาวไทย เอสเอ็มอี รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ ภายใต้การให้บริการในประเทศไทยผ่านเครือข่ายที่ครอบคลุม มีคุณภาพ และความเร็วสูง รวมถึงการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มความสามารถ

วางตำแหน่งเป็นผู้นำในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม-เทคโนโลยี พันธมิตรที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ผู้นำในอุตสาหกรรม และช่วยขับเคลื่อนการสร้างสังคมของธุรกิจสตาร์ทอัพต่อไป