‘เอ็นที’ ลุยเขย่าโครงสร้างองค์กร 5จี-ดาวเทียม-ท่อร้อยสาย โจทย์ร้อนรอสาง

‘เอ็นที’ ลุยเขย่าโครงสร้างองค์กร  5จี-ดาวเทียม-ท่อร้อยสาย โจทย์ร้อนรอสาง

หลังจากได้ ซีอีโอตัวจริง จะมีเรื่อง 5G บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ กิจการดาวเทียมที่รับมอบสัมปทานมาจากไทยคม การแก้ไขปัญหาสายสื่อสารและจัดการเรื่องท่อร้อยสาย ซึ่งต้องรอให้มาดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจน

การควบรวมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ต้นปี 2564 หลังจากที่ยืดเยื้อมายาวนาน 10 ปี จาก“ทีโอที-แคท เทเลคอม” สู่ “เอ็นที” เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่หลังจากได้ตัว “ซีอีโอ” คนใหม่มาเดินเครื่ององค์กร

เร่งเครื่องปรับโครงสร้าง

โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที ได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์หลังเซ็นสัญญาอย่างไปทางการต่อพนักงานเอ็นทีทั้งหมด โดยภายในงาน “CEO 1 TALK ” ครั้งแรกกับพนักงาน เอ็นทีก็เพื่อทำความรู้จักกับซีอีโอคนแรกของเอ็นทีพร้อมแสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนเอ็นทีสู่ความสำเร็จ โดยเรื่องแรกที่หยิบยกมาเรียกขวัญกำลังใจพนักงานคือการขึ้นเงินเดือนให้พนักงาน 6-7% ภายในสิ้นเดือน ก.ค. 2565 และสัญญาว่าต่อไปการขึ้นเงินเดือนจะตรงเวลาไม่ล่าช้า

ขณะที่ เรื่องโบนัสนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แม้ว่า ปี 2564 เอ็นทีมีกำไร 2,600 ล้านบาท เพราะตัวเลขยังไม่ได้หักค่าเสื่อมต่างๆ ส่วนเรื่องการพูดคุยเรื่องโครงสร้างองค์กรนั้นมีนัดกับพนักงานอีกครั้งหนึ่งวันที่ 11 ส.ค. 2565 โดยยืนยันว่าต้องปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป มีภารกิจให้ทำชัดเจน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรที่เดิมจะอุ้ยอ้ายจะกลายเป็นของแสลงเสียเหลือเกิน เพราะก่อนที่จะควบรวมเป็นเอ็นที ก็มีความพยายามปรับลดจำนวนพนักงานที่ทับซ้อนในหลายๆหน่วยธุรกิจลงให้มากที่สุด แต่ยังไม่สามารถทำได้ซึ่งเดิมแผนปรับโครงสร้างอยากให้เหลือพนักงานอยู่ที่ 10,000 คน

จุดพลุคลื่น700กับเอกชน

พ.อ. สรรพชัยย์ กล่าวว่า คลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ตอนที่เราตัดสินใจประมูลคลื่น 700 นั้น เรามีแผน มีความพร้อม ตอนนี้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยเอกชนรับราคาค่าคลื่นไปเท่ากับมูลค่าปีที่เหลือของการประมูล ส่วนอีก 5 เมก เราจะนำมารักษาฐานลูกค้าเก่า 2-3 ล้านราย ส่วนคลื่นที่กำลังจะหมดในปี 2568 ทั้งคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ รายได้ที่จะหายไปปีละ 10,000 ล้านบาทก็ต้องเอามาพิจารณา 

“เราต้องทำหน้าที่เป็นองค์กรด้านโทรคมนาคมของรัฐ ต้องออกแรงทำ แม้กฎหมายจำกัดให้เราทำไม่ได้ แต่ก็ต้องออกแรงทำ”

นอกจากนี้ มองว่าต่อไปคลื่นความถี่ไม่จำเป็นต้องจัดสรรด้วยการประมูลเพียงอย่างเดียว หากคลื่นมีจำนวนมากและไม่มีใครสนใจประมูล ก็ควรจะมีวิธีการได้คลื่นมาใช้งาน ดีกว่าให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เก็บไว้แล้วไม่มีใครนำมาใช้ประโยชน์
 

แผนธุรกิจดาวเทียมไม่คืบ

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดของงานบางธุรกิจเช่น ดาวเทียม เรารับมอบมาจากบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่สิ้นสุดสัมปทานลงไป โดยตอนนี้ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์ ) และไทยคม 6 อยู่ในการดูแลของเอ็นที แต่สิทธิและความเป็นเจ้าของอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ดังนั้น หลายอย่างที่เราตั้งใจจะดำเนินการมันเลยยังไม่คืบหน้า

ทั้งนี้ เดิมในแผนงานของเอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินในโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการสื่อสารโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมมากยิ่งขึ้น ซึ่งดาวเทียมสื่อสารถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้น การให้บริการดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการติดต่อสื่อสาร และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการดาวเทียมของไทย

โยนโจทย์หินต้องมี“กำไร”

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า หลังจากที่ พ.อ. สรรพชัยย์ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นทีและเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้มอบนโนบายและโครงการหลักๆที่ต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จ ได้แก่ 

1.การปรับโครงสร้างองค์กรหลังมีการควบรวมกิจการ 2.โครงการ 5จี บนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นพันธมิตรเอไอเอส ซึ่งครึ่งหนึ่งของคลื่นที่ประมูลมาทำธุรกิจร่วมกับเอไอเอส ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งต้องนำมาดำเนินการเองทั้งการให้บริการ 5จี และเติมเต็มเครือข่ายของบริการโทรศัพท์มือถือ my 3. กิจการดาวเทียมที่รับมอบสัมปทานมาจากไทยคม 4.การแก้ไขปัญหาสายสื่อสารและจัดการเรื่องท่อร้อยสาย 

เชื่อว่าภายในวาระการทำงาน 4 ปี กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่จะสามารถขับเคลื่อนงานได้สำเร็จ ไปพร้อมกับผลประกอบการไม่ขาดทุนมีกำไรจากการประกอบกิจการ