‘อีเอสอาร์ไอ’ เผย 3 เทรนด์จีไอเอส สะเทือนวงการ ‘แผนที่ดิจิทัล’
อีเอสอาร์ไอ เผย 3 เทรนด์เทคโนโลยี “GIS” ที่น่าจับตามอง ทั้งบิ๊กดาต้า เรียลไทม์ การสร้างแผนที่อัตโนมัติจากภาพถ่ายด้วยระบบประมวลผลอัจฉริยะ และการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในรูปแบบดิจิทัล
ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทอีเอสอาร์ไอ(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ Location Intelligence เผยว่า เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) มีส่วนสำคัญต่อการแก้ปัญหาความท้าทายของโลกในปัจจุบัน
ทั้งการจัดการภัยพิบัติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการทำแผนที่ ซึ่งเปรียบเสมือนภาษาพื้นฐานที่ช่วยให้แสดงรูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูล เห็นมุมมองที่แตกต่าง เชื่อมโยงและสร้างความเข้าใจแบบองค์รวมอย่างครอบคลุมร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสสู่การค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างจุดร่วม สนับสนุนการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อจับกระแสความเปลี่ยนแปลง จัดการกับความท้าทายที่ต่างกำลังเผชิญอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ปูทางสู่อนาคตที่ดีกว่าสำหรับโลกของเรา
หนุนบิ๊กดาต้า เชื่อมต่อเรียลไทม์
สำหรับ 3 เทรนด์เทคโนโลยี GIS ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากประกอบด้วย 1.Big Data & Real-time เทคโนโลยี GIS ที่จะเข้าไปเพิ่มคุณค่าและยกระดับการทำงานด้วยชุดเครื่องมือที่หลากหลายและพร้อมใช้งาน ช่วยจัดการ วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่และซับซ้อนมาใช้งานได้รวดเร็ว พร้อมช่วยประกอบการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยในปีนี้ ArcGIS ได้พัฒนาคุณสมบัติและเพิ่มความสามารถให้มีความทันสมัย ผ่าน 2 โซลูชันที่ตอบโจทย์ด้านบิ๊กดาต้าโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น ArcGIS Velocity ทำงานร่วมกับบิ๊กดาต้า และเรียลไทม์บนคลาวด์ เชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ หรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ และจัดเก็บข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึก
อาทิ การแจ้งเตือนเมื่อทรัพย์สินย้ายหรือเปลี่ยนแปลง รองรับปริมาณข้อมูลตามการใช้งาน ลดขั้นตอนการติดตั้ง และต้นทุนในการบริหารจัดการระบบ และ ArcGIS GeoAnalytics โซลูชันการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในรูปแบบบิ๊กดาต้า สามารถหาคำตอบหรือ Pattern จากข้อมูลบิ๊กดาต้า
พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลบิ๊กดาต้าหลายแหล่งภายในระบบขององค์กร ช่วยเร่งเวลาในการประมวลผล ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
อัตโนมัติ-ประมวลผลอัจฉริยะ
ขณะที่ 2.เทคโนโลยีการสร้างแผนที่อัตโนมัติจากภาพถ่ายด้วยระบบประมวลผลอัจฉริยะ (GeoAI & Machine Learning) แปลงข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมให้เป็นแผนที่ดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องใช้คน ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
ด้วย Pretrained Deep Learning Model ซึ่งเป็น Model สำเร็จรูปพร้อมใช้งานบน ArcGIS Living Atlas ที่สามารถดาวน์โหลดไปวิเคราะห์และแปลงข้อมูลได้แบบอัตโนมัติ ลดขั้นตอนการทำ Training Model ตั้งต้น
อาทิ การหาตำแหน่งที่ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ (Solar Panel Detection) การจำแนกข้อมูลขอบเขตอาคาร (Building Footprint Extraction) การจำแนกข้อมูลถนน (Road Extraction) การจำแนกประเภทสิ่งปกคลุมดิน (Land Cover Classification) ฯลฯ
แบบจำลอง ‘ดิจิทัล ทวิน”
สุดท้าย 3.เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในรูปแบบดิจิทัล (Digital Twins) การสร้างแบบจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพเพื่อให้สามารถจำลองเหตุการณ์ได้เหมือนกับวัตถุจริง เพื่อนำไปวิเคราะห์ คาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยี GIS เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยสร้างและบูรณาการข้อมูลดิจิทัล และข้อมูล Sensors ต่าง ๆ มาแสดงผลในรูปแบบแผนที่
โดยสามารถสร้างแบบจำลองเมืองเพื่อช่วยบริหารจัดการเมือง “สมาร์ทซิตี้” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งแบบจำลองข้อมูลด้านสาธารณูปโภคต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบประปา และระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้เป็นข้อมูล 3 มิติ ทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อดูความเชื่อมโยงของข้อมูลได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูล BIM (Building Information Model) มาจำลองรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ทั้งภายในและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เพื่อนำมาวิเคราะห์ วางแผน และประกอบการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น