NIA ชวนส่อง “4 ต้นแบบสตาร์ตอัป” กับ “นวัตกรรมแก้ไขปัญหาเมือง”
NIA ชวนรู้จัก 4 ต้นแบบสตาร์ตอัป มาพร้อมกับมิชชั่น “เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสและการลงมือทำ” ส่งโซลูชั่นและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาเรื้อรังภายในเมือง
กว่า 2 ปีกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมที่ไม่คุ้นชินเกิดขึ้น พร้อมเป็นตัวเร่งให้เกิด “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ที่ตอบโจทย์สังคมยุคใหม่ ซึ่งการเข้ามาของ “โรคระบาด” นี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของ “สตาร์ตอัป” ที่หลายรายสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสและสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีทางเศรษฐกิจและสังคมให้มีทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
วันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จะพามารู้จักกับ “ต้นแบบสตาร์ตอัปแห่งชาติ” จากเวที Prime Minister Award: National Startup 2022 รางวัลเชิดชูเกียรติสตาร์ตอัปต้นแบบของไทย และ Prime Minister Award: Innovation For Crisis สตาร์ตอัปที่ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตที่สามารถสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศและประชากรโลก ซึ่งเพิ่งเข้ารับรางวัลจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีสตาร์ตอัปที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA จำนวน 4 ราย จากผู้รับรางวัลทั้งสิ้น 11 ราย
- 1. รีคัลท์ (Recult) ผู้เปลี่ยนเกมเกษตรกรไทยให้รู้เท่าทันฟ้าฝน
แอปพลิเคชั่นที่ต้องการเห็นเกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเริ่มจากการเช็คปริมาณฝนซึ่งแอปฯ สามารถคำนวณได้ล่วงหน้านานกว่า 9 เดือน การวิเคราะห์ปัญหาที่เกษตรกรจะต้องเผชิญในแต่ละช่วงฤดู ไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและขายสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรสามารถบริหารจัดการกระบวนการทำการเกษตรผ่านแอปพลิเคชันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ปัจจุบันมีเกษตรกรใช้บริการมากกว่า 5 แสนราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ทำพืชไร่ เช่น นาข้าว ไร่อ้อย มันสำปะหลัง และจากการติดตามผลพบว่าสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้มากขึ้นกว่า 30% นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลของเกษตรกรเชื่อมโยงกับโรงงานอุตสาหกรรม หรือธนาคาร เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องอาศัยการกู้เงินนอกระบบเพื่อมาลงทุน
นอกจากนี้ Recult ยังมีลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้งานระบบกว่า 10 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 5 แสนไร่ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 หมื่นล้านบาท และได้ขยายตลาดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนาม ฟิลิปปินส์อีกด้วย
- 2. เฟรชเก็ต (Freshket) ผู้พยุงงานครัวให้ร้านอาหาร 4,500 แห่งทั่วกรุง
ธุรกิจตลาดสดออนไลน์ที่รวบรวมวัตถุดิบทั้งของสด ของแห้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และของใช้สำหรับร้านอาหารไว้บนแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งได้ติดต่อและคัดเลือกวัตถุดิบจากเกษตรกรโดยตรง จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลักอย่างร้านอาหารที่มีมากกว่า 4,500 แห่งในกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ได้รับการระดมทุนรอบซีรี่ย์บี จำนวน 23.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 800 ล้านบาท) โดยมีบริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด เป็นผู้นำการลงทุนมูลค่า 14.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 500 ล้านบาท) และมีผู้ร่วมลงทุนคือบริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด
- 3. คิว คิว (QueQ) คิวเยอะแค่ไหนก็จัดการได้อยู่หมัด
โซลูชันจองคิวที่ช่วยแก้ปัญหาการรอคิวนาน ทั้งร้านอาหาร ธนาคาร โรงพยาบาล ฯลฯ อดีตที่ผ่านมาคิวคิวเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการคิวของร้านค้าเพื่อลดความน่าเบื่อในการรอคิวของผู้ใช้บริการ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแอปฯ นี้ ได้ดิสรัปต์ทั้งปัญหาการรอคิวบริการในสถานที่ราชการที่ส่วนใหญ่มีความหนาแน่น เนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
การให้บริการในโรงพยาบาลสำหรับช่วยตรวจสอบคิวและการเข้าถึงการจองคิวล่วงหน้า เพื่อให้เป็นไปตามลำดับขั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนลงทะเบียน การให้คำปรึกษา การตรวจเลือด เอ็กซเรย์ การรับยา จนกระทั่งการจ่ายเงิน
นอกจากนี้ คิวคิวมีการคัดกรองความเสี่ยงก่อนจองคิวเข้าเมือง รวมถึงยังเป็นผู้เชี่ยวชาญสอนการทำธุรกิจให้กับสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ การเป็นกรรมการการแข่งขัน Startup Thailand League รวมถึงเผยแพร่เรื่องการทำธุรกิจสตาร์ตอัปและช่วยผลักดันระบบนิเวศสตาร์ตอัปให้มีพัฒนาการที่ดีดังเช่นในปัจจุบัน
- 4. “สำรวย ผัดผล” ต้นแบบผู้พลิกวิกฤติความยากจน
สำรวย ผัดผล เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชนด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การฟื้นคืนผืนป่าชุมชน ซึ่งปัจจุบันทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีน้ำสำหรับทำการเกษตรกว่า 500 ครัวเรือน และจัดตั้งศูนย์โจ้โก้เพื่อศึกษางานด้านการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพืช จำพวกข้าวและผัก ซึ่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญในท้องถิ่น เพื่อการศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาและให้องค์ความรู้กับชุมชน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นายสำรวย ได้ผลักดันให้เกิดขึ้นในชุมชนคือ ระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ชุมชนเมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศในการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สำหรับสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ตั้งของชุมชน
โดยถูกออกแบบให้เป็นลักษณะขั้นบันไดเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อสูบน้ำไปยังพื้นที่สูงและพื้นที่ห่างไกล เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร เพื่อทดแทนการใช้ระบบสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านพลังงานในการทำเกษตรกรรมลดลงและมีน้ำใช้ในการทำการเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงได้ หรือเปรียบเสมือนน้ำไหลจากที่ต่ำสู่ที่สูง
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า รางวัล Prime Minister Award: National Startup 2022 ถือเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อน เร่งสร้าง และพัฒนาสตาร์ทอัพที่เป็นรูปธรรมในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา ประกอบด้วย Freshket ตลาดสดออนไลน์ที่รวบรวมวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารไว้บนแพลตฟอร์มเดียว, Ricult แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลการเกษตรครบวงจร, แอปพลิเคชั่น คิวคิว, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด
สำหรับอีกรางวัลคือ รางวัล Prime Minister Award: Innovation For Crisis ที่มอบให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการระบาดของเชื้อไวรัส สภาพอากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจ ที่สามารถส่งต่อคุณค่าและประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชากรโลก ประกอบด้วย
- รางวัลประเภทองค์กร-บุคคที่ส่งเสริมความเท่าเทียม ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- รางวัลประเภทองค์กร-บุคคลที่ส่งเสริมประเด็นด้านการจัดการภัยพิบัติ ได้แก่ Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับร้องเรียนปัญหาเมือง, ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- รางวัลประเภทองค์กร-บุคคลที่ส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจน ได้แก่ Noburo (โนบูโร) แพลตฟอร์มให้บริการสวัสดิการทางการเงินและสินเชื่อแก่พนักงานบริษัท, สำรวย ผัดผล ประธานศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้