"แบงก์" ต้องวิ่งให้เร็วเมื่อถูกเทคฯ "ไล่ล่า"
"แบงก์" จะยิ่งถูกดิสรัปรุนแรงเพิ่มขึ้น หากระบบของแบงก์ รวมถึงสถาบันการเงิน ยังมีช่องโหว่ รอยรั่ว ระบบไม่แกร่ง และไม่มั่นคงมากพอที่จะรองรับโลกการเงินยุคใหม่ที่ธุรกรรมเกิดขึ้นทุกวินาที
ปัญหา “แอปล่ม” หรือ ระบบโมบายแบงกิ้ง ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด หรือ หรือ ttb ขัดข้อง ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2565 ทำให้ลูกค้าไม่สามารถใช้งานได้ หรือใช้เวลานานในการทำธุรกรรม กระทบกับลูกค้าเป็นวงกว้าง จนธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องออกมากำชับ “ttb” รวมถึงทุกสถาบันการเงิน ให้เร่งปรับปรุงบริการ ยกระดับมาตรฐานระบบ โมบายแบงกิ้ง ที่ต้องมีความเสถียร และให้คณะกรรมการธนาคารกำกับดูแลประเมินผลอย่างจริงจังแล้วรายงานผลให้ ธปท.ทราบเป็นระยะ
ที่สำคัญคณะกรรมการธนาคาร ต้องพิจารณาความพร้อมของระบบการให้บริการ ก่อนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านดิจิทัล หรือก่อนเปลี่ยนระบบงานที่จะส่งผลต่อการให้บริการโมบายแบงกิ้ง อย่างรอบคอบ
ระยะหลังเรามักได้ยิน แอปบริการต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน “ล่ม” บ่อยขึ้น โดยเฉพาะโมบายแบงกิ้งที่คนไทยนิยมใช้ติดอันดับโลก และก็เป็นระบบที่ล่มบ่อยมากที่สุดด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาสถาบันการเงินเป็นกลุ่มที่ถูก “เทคโนโลยี” ดิสรัปอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ทุกธนาคารปรับตัว ดึงระบบล้ำสมัยมาใช้ หากความล้ำสมัยควรต้องมาพร้อมความเสถียรของระบบ รองรับธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณได้ด้วย ซึ่งดูเหมือนแบงก์ยังทำ “ไม่มากพอ”
โมบายแบงกิ้ง กลายเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกรรมของคนยุคใหม่ไปแล้ว โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือน นั่นเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ระบบ “รับไม่ไหว” ที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่ แบงก์ ttb แต่ทุกแบงก์เจอปัญหาแบบนี้ด้วยกันทั้งหมด ในมุมของ “เทคโนโลยี” ยักษ์ใหญ่อย่าง “ไอบีเอ็ม” เคยวิเคราะห์ว่า “แอปพลิเคชัน” คือหัวใจสำคัญของธุรกิจ การที่แอปโหลดช้าลงเพียงแค่ 1 วินาที ทำให้อัตราส่วนของการใช้บริการของลูกค้าลดลงได้ถึง 7% ความพึงพอใจของลูกค้าลดลงถึง 16%
ส่วน สาเหตุหลักที่ระบบ หรือแอปต่างๆ หยุดชะงัก มาจาก 1.เวิร์กโหลดหรือปริมาณการใช้งานที่พุ่งสูง 2.การหยุดชะงักอันเกิดจากปัญหาฮาร์ดแวร์ ระบบ หรือแอปพลิเคชัน เช่น ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ฮาร์ดแวร์ เน็ตเวิร์ก ปัญหาเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน เช่น แอปพลิเคชันหยุดทำงาน, Certification ต่างๆ หมดอายุ รวมถึงล็อกธุรกรรม หรือการบันทึกธุรกรรมสำหรับฐานข้อมูลเต็ม ทำให้ไม่สามารถสำรองไฟล์บันทึกธุรกรรมเพิ่มได้ และปัญหาเรื่องความปลอดภัย เช่น ถูกอาชญากรไซเบอร์เจาะระบบ หรือโจมตีด้วยมัลแวร์ นำไปสู่เหตุข้อมูลรั่ว เป็นต้น
ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ จากนี้จะยิ่งถูกดิสรัปอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น หากระบบของแบงก์ รวมถึงสถาบันการเงิน ยังมีช่องโหว่ รอยรั่ว ระบบไม่แกร่ง และไม่มั่นคงมากพอที่จะรองรับโลกการเงินยุคใหม่ที่ธุรกรรมเกิดขึ้นทุกวินาที ไม่เพียงแค่ต้องป้องกันไม่ให้ระบบล่ม หากจะกลายเป็น “ช่องโหว่” เปิดให้อาชญากรไซเบอร์ เจาะระบบลักลอบเข้ามาล้วงข้อมูล สร้างความเสียหายมหาศาลกระทบเป็นลูกโซ่ เหมือนอย่างเคสทั่วโลกที่โดนมาแล้ว อย่าให้ประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์นั้น