"เลิกจ้าง" แบบมี Empathy จ่ายชดเชยเบิ้มๆ สไตล์ สัตยา นาเดลลา CEO ไมโครซอฟท์
ส่องสไตล์การเลิกจ้างอย่างมี Empathy ของ "สัตยา นาเดลลา" CEO ไมโครซอฟท์ ที่นอกจากจ่ายชดเชยแบบเบิ้มๆ ยังแจกทั้งหุ้น สวัสดิการรักษาพยาบาล แถมบริการช่วยหางานด้วย
ผ่านไปแล้วกับสัปดาห์นรก! ของวงการเทคเมื่อเหล่าเทคคัมพานีระดับโลกตบเท้ากันออกมาประกาศ "เลิกจ้าง" ทั้งกูเกิล อเมซอน รวมถึง ไมโครซอฟท์ รวมๆ แล้วกว่า 4 หมื่นคน
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว CEO ตัวตึงอย่าง "อีลอน มัสก์" ก็เพิ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานทวิตเตอร์ผ่านอีเมล แถมให้มีผลทันที ชนิดได้เมลปุ๊บก็เข้าถึงอีเมลและระบบงานใดๆ ไม่ได้เลย เรียกว่า สวนทางกับการเลิกจ้างของ "ไมโครซอฟท์" (Microsoft) ที่แม้จะเตรียมปลดพนักงานออกมากถึง 1 หมื่นคน แต่สิ่งที่ทำให้ "สัตยา นาเดลลา" (Satya Nadella) CEO ไมโครซอฟท์ ต่างจากอีลอน มัสก์ กลับอยู่ที่หลักคิดแบบ Empathy หรือ "ความเห็นอกเห็นใจ" ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติอันโดดเด่นของซีอีโอชาวอินเดียรายนี้ ที่สื่อหลายๆ สำนักต่างมักหยิบมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง เมื่อพูดถึง Empathy Skill ที่ผู้นำควรมี
"เราจะปฏิบัติต่อพนักงานของเราอย่างให้เกียรติ ด้วยความเคารพ และจะดำเนินการอย่างรอบคอบและโปร่งใส" ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ที่สัตยา เขียนไว้ในบล็อก ถึงพนักงานไมโครซอฟท์ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากถึง 220,000 คน และจะมี 5% หรือราว 1 หมื่นคนที่ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน
- เรื่องไม่ง่ายขององค์กรใหญ่
ในจดหมาย สัตยา ย้ำถึงการตัดสินใจในครั้งนี้ว่า "เป็นเรื่องยาก แต่จำเป็น"
แน่นอนว่า มันคงไม่ง่าย ที่คุณจะต้องบริหารองค์กรใหญ่ยักษ์ระดับ "ล้านล้านดอลลาร์" แต่ต้องมานั่งใส่ใจในรายละเอียดหรือความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ของพนักงาน แต่สัตยาก็พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นไปได้
ถ้าย้อนกลับไป สมัยที่เขาเข้ารับตำแหน่งซีอีโอ ไมโครซอฟท์ เมื่อปี 2014 “ทิศทาง” ของยักษ์เทคก็ถูกเปลี่ยนจากเป้าหมาย “การได้เป็นระบบปฏิบัติการบนทุกโต๊ะทำงานในทุกบ้าน” ไปสู่การตั้งเป้าสู่การเป็น "อันดับหนึ่งของโลกเรื่องระบบ Cloud"
“งานของเรา คือ มั่นใจว่า ไมโครซอฟท์จะเติบโตไปได้บนโลกที่อะไรๆ ก็โมบาย และใช้คลาวด์เป็นอันดับแรก” นั่นคือส่วนหนึ่งในจดหมายจาก สัตยา ถึงพนักงานไมโครซอฟท์ เมื่อตอนที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เมื่อ 4 ก.พ. 2014
ความกล้าที่จะทิ้งความสำเร็จเก่าๆ และปักธงสู่เป้าหมายใหม่ของสัตยาในครั้งนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งมาสเตอร์พีซบนประวัติศาสตร์ไมโครซอฟท์ และพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนจากตัวเลขรายได้ที่ผงาดขึ้น จาก 3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2014 สู่ระดับ “ล้านล้านดอลลาร์” ได้ในปี 2020
- ความเห็นใจ กลไกสู่ความสำเร็จ
จากหนังสือ “Hit Refresh” (ฉบับแปลไทย - พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ : Hit Refresh) ที่สัตยาเขียนขึ้น เขาบอกว่า ถ้าไร้ซึ่ง “ความเห็นอกเห็นใจ” ไมโครซอฟท์จะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้อย่างวันนี้
สัตยา เอ่ยถึงหัวใจของการทำธุรกิจของเขาว่า คือ การทำความ “เข้าใจ” ความต้องการของลูกค้า และส่งมอบโซลูชันเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการที่แม้แต่ตัวลูกค้าเองก็ไม่รู้ว่ามีอยู่
กับพนักงานก็เช่นกัน แม้จำนวนที่จะเลิกจ้างเป็นเพียง 5% ของพนักงานทั้งหมด แต่การตกงานในยามเศรษฐกิจอย่างนี้ แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากให้แจ๊คพอตมาเกิดกับตัวเอง ดังนั้นการแจ้ง “ข่าวร้าย” แบบนี้ จึงต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ซึ่งสำหรับ สัตยา เขาก็สะท้อนผ่าน 3 คีย์เวิร์ดสำคัญ อย่างคำว่า “ให้เกียรติ-เคารพ-รอบคอบและโปร่งใส” ที่แสดงถึงการแคร์ความรู้สึกพนักงาน รวมถึงบริษัทมองเรื่องนี้เป็นเรื่องซีเรียสขนาดไหน
แต่แค่คำพูดคงไม่พอ ไมโครซอฟท์เลยยืนยันถึงความจริงใจด้วย “ค่าชดเชย” ที่สูงกว่าราคาตลาด รวมถึงยังคง “คุ้มครองการรักษาพยาบาล” ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน และการ “ให้รางวัลหุ้น” อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน บริการเปลี่ยนสายอาชีพ และการ “แจ้งล่วงหน้า 60 วัน” ก่อนการเลิกจ้าง
เรียกได้ว่า เป็นการชดเชยการเลิกจ้างแบบเบิ้มๆ สะท้อนชัดเจนว่า ความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy เขาไม่ได้ดูกันที่คำพูด แต่ดูกันว่า คุณปฏิบัติอย่างไรต่อพนักงานของคุณมากกว่า!
อ้างอิง inc , forbes , blogs.microsoft