‘มนุษย์จักรกล’ ใกล้เป็นจริง? หลังสหรัฐ ‘ไฟเขียว’ ฝังชิปในสมองคน
ภาพมนุษย์ที่รวมร่างกับจักรกลตามภาพยนตร์ไซไฟ (Sci-Fi) กำลังเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น เมื่อทางการสหรัฐอนุมัติให้บริษัทของ “อีลอน มัสก์” ทดลองฝังชิปในมนุษย์ได้ เพื่อเชื่อมอวัยวะมนุษย์ให้เข้ากับจักรกล
“Neuralink” บริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มหาเศรษฐีแถวหน้าของโลก ซึ่งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท Tesla และ Twitter มีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในการฝังชิปลงในสมองมนุษย์และเชื่อมสัญญาณกับคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้มนุษย์ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เช่น บกพร่องด้านสายตาให้กลับมามองเห็น หรือบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวให้กลับมาเดินได้อีกครั้ง
ล่าสุด องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) อนุมัติให้บริษัท Neuralink ทดลองฝังชิปในสมองมนุษย์ได้ นับเป็นข่าวดีของวงการเทคโนโลยี หลังจากเมื่อต้นปีที่แล้ว อย.สหรัฐเคยปฏิเสธคำขอนี้
คริสติน เวลล์ (Cristin Welle) อดีตเจ้าหน้าที่อย.สหรัฐและรองศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมประสาทและสรีรวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ให้ความเห็นว่า การอนุมัติดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
การที่ Neuralink สามารถทดลองในมนุษย์ หมายความว่า พวกเขาผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยในระยะก่อนคลินิกและการทดสอบอุปกรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบหาจุดบกพร่องในอุปกรณ์ ลักษณะการออกแบบ ความทนทาน และการเข้ากันได้ทางชีวภาพ
- การฝังชิปในสมองมนุษย์ (เครดิต: Neuralink) -
Neuralink ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิด้านระบบประสาทร่วมทำงานปลูกถ่ายสมองหลายคน แต่ตลอดช่วงหลายปีมานี้ พนักงานจำนวนมากได้ย้ายออกไปทำงานที่บริษัทอื่นแทน
อย่างไรก็ดี สำหรับมัสก์ เขายังคงอยู่บริหารบริษัท และเคยกล่าวในครั้งก่อนว่า บริษัท Neuralink ใกล้จะได้รับการอนุมัติจากอย.สหรัฐเพื่อทดลองฝังชิปกับมนุษย์
สำหรับอุปกรณ์ที่ Neuralink พัฒนาขึ้นนั้น มีเป้าหมายเพื่อช่วยผู้ป่วยอัมพาตหรือบาดเจ็บทางสมอง ให้กลับมาสื่อสารและควบคุมคอมพิวเตอร์ได้อีกครั้งด้วยการใช้เพียง “ความคิด”
นอกจากนี้ มัสก์ตั้งสมมติฐานอีกว่า อุปกรณ์นี้ยังช่วยพามนุษย์ให้ก้าวทันความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้
- ลักษณะชิปในสมองมนุษย์ (เครดิต: Neuralink) -
- Neuralink ไม่ใช่บริษัทแรกที่ได้ไฟเขียว
อันที่จริงแล้ว บริษัท Neuralink ไม่ใช่บริษัทรายแรกที่ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐให้ทดสอบฝังชิปในสมองมนุษย์ได้ โดยก่อนหน้านี้ บริษัท Synchron ก็ได้รับการอนุมัติเช่นกันเมื่อเดือน ก.ค. 2564
อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ของบริษัท Synchron มีผลกระทบต่อสมองน้อยกว่า Neuralink และทำงานด้วยอีกเทคโนโลยีหนึ่ง
ก่อนหน้านั้น กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์ได้ออกมาต่อต้านมัสก์ที่ทดลองฝังชิปในสัตว์ โดยไม่ปฏิบัติตามข้อระเบียบที่เหมาะสม และกระทรวงคมนาคมสหรัฐออกมาเปิดเผยด้วยว่า กำลังสอบสวนการทดลองของ Neurallink ว่าเข้าข่ายทำให้เกิดการติดเชื้อปนเปื้อนหรือไม่
- ใช้เวลาพัฒนาอีกอย่างน้อย 5-10 ปี
เวลล์ อดีตเจ้าหน้าที่อย.สหรัฐ ระบุว่า ถึงแม้อย.สหรัฐจะอนุมัติให้ Neurallink ทดลองในมนุษย์ได้แล้ว แต่การฝังชิปในสมองก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในเร็ว ๆ นี้ โดยบริษัทคงใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี ในการพัฒนาอุปกรณ์ก่อนที่จะนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้
นอกจากนั้น ในขั้นตอนการเตรียมทดลองและเปิดรับสมัครผู้ป่วย ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน เห็นได้จากบริษัท Synchron ที่เริ่มทำการฝังอุปกรณ์ในมนุษย์เมื่อเดือน ก.ค. 2565 หลังได้รับการอนุมัติจากทางการเกือบ 1 ปี โดยในการทดลองกับมนุษย์ครั้งแรก มีผู้เข้าร่วม 5-10 คน และใช้เวลานาน 6 เดือน
จากการทดสอบกับมนุษย์ครั้งแรกของ Synchron ทำให้บริษัทสามารถปรับรูปแบบอุปกรณ์ตามผลการทดสอบนั้น โดยไม่ต้องเริ่มกระบวนการขออนุมัติจากอย.สหรัฐทั้งหมดใหม่อีกรอบ ซึ่งช่วยให้ขั้นตอนนี้มีความยืดหยุ่น
หากผลการทดลองเป็นไปด้วยดี Neuralink จะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ไปจนถึงขั้นสุดท้ายคือ การทดสอบเพื่อเตรียมข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียนหรือที่รู้จักกันในชื่อ “การทดลองเฟสสาม” นั่นเอง
อ้างอิง: bloomberg