เมื่อ Emoji ก่อให้เกิดสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

เมื่อ Emoji ก่อให้เกิดสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2566 มีคดีน่าสนใจ โดยศาลในประเทศแคนาดา ตัดสินให้ Emoji เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่งที่มีผลทางกฎหมายและเป็นบ่อเกิดของสัญญา

ข้อเท็จจริง

เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในกรณีที่โจทก์และจำเลยพูดคุยกันทางโทรศัพท์ เพื่อตกลงจะเข้าทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตร (ต้นแฟลกซ์) ต่อมาเมื่อพูดคุยเสร็จสิ้น โจทก์ได้ส่งข้อความหาจำเลยเพื่อยืนยันการซื้อขายดังกล่าวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Text Message)

โดยมีข้อความว่า “โปรดยืนยันสัญญาซื้อขายต้นแฟลกซ์” จำเลยพิมพ์ตอบกลับมาโดยใช้ Thumbs-up Emoji (สัญลักษณ์ยกนิ้วหัวแม่มือ) อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่ได้นำส่งต้นแฟลกซ์ตามที่ได้ตกลง 

ต่อมาเมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยส่งมอบต้นแฟลกซ์ดังกล่าว จำเลยได้กล่าวอ้างว่า การใช้ส่งสัญลักษณ์ Thumbs-up Emoji นั้น เป็นเพียงการบอกให้ทราบว่าได้รับข้อความแล้ว ไม่ได้หมายว่า ยอมรับ ตกลง หรือผูกพันตามข้อความในสัญญา 

ทั้งนี้ จำเลยยังได้ให้เหตุผลว่า ตนเข้าใจว่าโจทก์ “จะนำส่งสัญญาฉบับเต็มมาทางแฟกซ์หรืออีเมล เพื่อตรวจสอบอีกครั้งก่อนมีการเซ็นสัญญาซื้อขาย” ดังนั้น เพียงแค่การส่งข้อความตอบโต้ผ่านระบบ Messenger จึงยังไม่ได้แปลว่าจะตกลงขายต้นแฟลกซ์ให้โจทก์ตามที่โจทก์เข้าใจ

คำถามคือ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่

จากกรณีข้างต้น โจทก์ได้ฟ้องต่อศาลเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่จำเลยไม่ขายต้นแฟลกซ์ให้ตามที่ตกลง ศาลจึงได้ตัดสินว่า ข้อความดังกล่าวถือเป็น “สัญญาที่มีผลทางกฎหมาย” โดยให้เหตุผลว่า Thumbs-up Emoji ที่จำเลยส่งให้โจทก์นั้นถือเป็นสัญลักษณ์ที่สามารถยืนยันเจตนาของจำเลยในการตกลงเข้าทำสัญญา

เมื่อ Emoji ก่อให้เกิดสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

ศาลได้กล่าวอ้างถึงนิยามของ Emoji ที่ปรากฏในดิกชันนารี ที่ได้ให้นิยามว่า Emoji คือ สัญลักษณ์หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่สื่อ หรือแสดงออกถึงเจตนาหรือความรู้สึกของผู้ส่งในรูปแบบต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปผ่านช่องทางสื่อสารในยุคดิจิทัล 

ดังนั้น “Emoji จึงถือเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทหนึ่ง ที่สามารถแสดงความสัมพันธ์เพื่อยืนยันตัวตนของผู้แสดงเจตนาได้ และกฎหมายในปัจจุบันก็ไม่ได้ห้ามการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้”

ศาลยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า แม้ Emoji จะไม่ใช่สัญลักษณ์โดยทั่วไปที่บุคคลจะใช้เพื่อแสดงเจตนาเพื่อเข้าทำสัญญา แต่ในกรณีนี้ การที่จำเลยส่ง Thumbs-up Emoji กลับไปตามข้อความที่โจทก์ส่งมา เท่ากับเป็นการแสดงเจตนายอมรับข้อความตามสัญญา 

อีกทั้งการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือของทั้งสองฝ่าย และปรากฏเบอร์โทรของโจทก์/จำเลย เป็นการยืนยันตัวตนของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตามหลักการลงลายมือชื่อแล้ว

เมื่อเทียบกับหลักการในกฎหมายไทย

สำหรับผู้เขียน ประเด็นในคดีนี้มีหลายข้อกฎหมายที่อาจนำมาศึกษาเทียบเคียงกับกฎหมายไทยได้ ดังนี้

1) หลักของกฎหมายสัญญา ที่กำหนดว่า สัญญาเกิดจากการแสดงเจตนา “เสนอ” และ “สนอง” ต้องตรงกันของ “บุคคล” ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เพื่อมุ่งให้เกิดนิติสัมพันธ์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

อย่างไรก็ดี แม้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานในการทำสัญญาของเอกชน จะไม่ได้กล่าวถึงการทำสัญญาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไว้ 

แต่กฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้ระบุหลักการที่สำคัญ ในการรองรับสถานะของข้อมูลและสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ไว้ กล่าวคือ คำเสนอ-สนองที่เป็นเหตุให้เกิดสัญญาย่อมสามารถทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ และมีผลผูกพันคู่สัญญาไม่ต่างจากการทำลงบนกระดาษ ดังนั้น การทำสัญญาทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สามารถมีผลตามกฎหมายได้ทั้งสิ้น

2) พิจารณาเรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document) กล่าวคือ ข้อความหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สามารถมีผลตามกฎหมายได้

หาก (1) ข้อความดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ โดย “เข้าถึงได้” นั้น หมายถึงข้อความดังกล่าวสามารถอ่านได้หรือตีความได้ (Readable) หรือสามารถแปลความหมายให้เข้าใจได้ (Interpretable) 

(2) ข้อความดังกล่าวต้องนำกลับมาใช้ได้ คำว่า “นำกลับมาใช้” ได้ในกรณีนี้ หมายถึง สามารถเรียกดูในภายหลัง หรือสามารถดึงข้อมูลให้ปรากฏในภายหลังได้ เช่น ในกรณีของอีเมล การที่ข้อความถูกเก็บไว้ใน Mailbox และเจ้าของสามารถเปิดดูเมื่อใดก็ได้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับความหมายในข้อนี้ 

เมื่อ Emoji ก่อให้เกิดสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

(3) ข้อความดังกล่าวต้องมีความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง “ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง” ในที่นี้ค่อนข้างเปิดกว้างในการตีความ เนื่องจากเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้และการพิสูจน์

โดยหากคู่ความสามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าความหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมเข้าองค์ประกอบข้อนี้ได้

(ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาในการตีความของศาลได้อยู่บ้างว่าเทคโนโลยีหรือกรณีแบบไหนที่จะส่งผลให้ “ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง”)

3) พิจารณาเรื่อง หลักการ e-Signature ซึ่งกฎหมายได้กำหนดว่า “e-Signature” หรือ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” คือ การสร้างชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบตัวเลข อักษร เสียง หรือสัญลักษณ์อื่นใด เพื่อใช้แสดงความสัมพันธ์กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของชุดข้อมูลดังกล่าว (เจ้าของลายมือชื่อ) 

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ

  1. เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และสามารถแสดงความเชื่อมโยงไปยังชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 
  2. เพื่อแสดงว่าเจ้าของลายมือชื่อยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ชุดดังกล่าวนั้น ตัวอย่างเช่น ชุดตัวเลขการเข้ารหัส (Passcode) หรือ Username/password เป็นต้น

ดังนั้น หากพิจารณาจากบริบทของกฎหมายไทย Emoji ก็อาจก่อให้เกิดสัญญาได้เช่นกัน เนื่องจากอาจอยู่ในรูปแบบข้อมูลหรือสัญลักษณ์ที่ปรากฏความหมายอย่างหนึ่งอย่างใดในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-document)

หรืออาจถูกใช้เพื่อแสดงเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผูกพันเจ้าของลายมือชื่อได้ หากมีการสร้าง Emoji เพื่อใช้ในกระบวนการยืนยันตัวตน ที่สามารถแสดงความหมายได้อย่างชัดเจน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย)

ท้ายที่สุด ผู้เขียนมองว่า การทำสัญญาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ คู่สัญญาควรใช้ภาษาที่ชัดเจนดีกว่าการใช้ข้อมูลรูปภาพ หรือสัญลักษณ์ข้อความอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันการตีความที่คลาดเคลื่อนในอนาคต

เมื่อ Emoji ก่อให้เกิดสัญญาที่มีผลทางกฎหมาย | สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

คอลัมน์  Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 
สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์
สำนักกฎหมาย
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง