สดร.เผยโฉม ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี
สดร.อวดภาพ "ซูเปอร์บลูมูน" หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 20.15 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 357,185 กิโลเมตร และยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุ ภาพ "ซูเปอร์บลูมูน" หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 20:15 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 357,185 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงในช่วงไกลโลกที่สุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 01:40 น. ระยะห่างจากโลกประมาณ 405,813 กิโลเมตร แสดงให้เห็นขนาดปรากฏที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุดในรอบปี เรียกว่า "ซูเปอร์ฟูลมูน" และยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ "บลูมูน" จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า "ซูเปอร์บลูมูน" เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เมื่อเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์ขณะใกล้โลกที่สุดกับ ดวงจันทร์เต็มดวง ขณะไกลโลกที่สุดแล้ว อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าถึง 14% และสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็นผลจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ ในช่วงหัวค่ำของคืนดังกล่าวยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างข้างดวงจันทร์อีกด้วย
ปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ส่วนปรากฏการณ์ บลูมูน ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2569