เกร็ดความรู้ ถ่ายภาพ 'ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี' คืนนี้ 30 ส.ค.

เกร็ดความรู้ ถ่ายภาพ 'ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี' คืนนี้ 30 ส.ค.

ก่อนจะไปพบกับ Super Blue Moon - ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ในคืนนี้ 30 ส.ค.66 NARIT พาแนะเทคนิคเก็บภาพดวงจันทร์สุดประทับใจ เตรียมตัวก่อนลงสนามจริงกัน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ( ​​​​​สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุ เตรียมพร้อมถ่ายภาพ ดวงจันทร์เต็มดวงใหญ่ที่สุดในรอบปี ก่อนจะไปพบกับ Super Blue Moon พาแนะเทคนิคเก็บภาพ ดวงจันทร์ สุดประทับใจ เตรียมตัวก่อนลงสนามจริงกัน ในคืน 30 ถึงเช้า 31 สิงหาคม 2566 มี 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่

ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon)

ในคืนดังกล่าว ดวงจันทร์เต็มดวง จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย

คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เมื่อเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงขณะไกลโลกที่สุดในรอบปีแล้ว อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าถึง 14% และอาจสว่างเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็นผลจากการที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากขึ้น ขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น จึงมองเห็นสว่างยิ่งขึ้น เหมาะแก่การถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยเฉพาะภาพเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า

 

ในแต่ละเดือน ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี ทำให้ระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ไม่คงที่ อยู่ใกล้โลกและไกลโลกสลับกันไป นักดาราศาสตร์เรียกตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 357,334 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 405,818 กิโลเมตร

ส่วนคำว่า "ซูเปอร์ฟูลมูน" เป็นเพียงการตั้งชื่อช่วงเหตุการณ์ที่ "สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง ในตำแหน่งที่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี" เท่านั้น ไม่ได้เป็นชื่อในทางวิทยาศาสตร์

เกร็ดความรู้ ถ่ายภาพ \'ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี\' คืนนี้ 30 ส.ค.

เกร็ดความรู้การถ่ายภาพดวงจันทร์เบื้องต้น ดังนี้

1. ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ความยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูง จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า 

2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เนื่องจากดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ค่าความไวแสงสูง จะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วย ช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว

3. การปรับโฟกัสภาพ แนะนำใช้ระบบ Live View บนจอหลังกล้อง เลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด

4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป อาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบภาพดูว่าเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่  

5. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล (M) เนื่องจากสามารถปรับการตั้งค่าได้ทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้สะดวก

6. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600 วินาที หากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปให้เพิ่มค่าความไวแสง (ISO) ขึ้นจนได้แสงที่พอดี

7. รูรับแสง เลือกใช้ในช่วงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ ปิดระบบกันสั่นของเลนส์

9. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง

10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

เมื่อทราบหลักการเบื้องต้นแล้วสามารถประยุกต์ใช้เพื่อถ่ายภาพดวงจันทร์ให้น่าสนใจ อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ Moon Illusion เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด เนื่องจากดวงจันทร์บริเวณขอบฟ้ามักมีวัตถุเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ ทำให้ผู้สังเกตรู้สึกว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ และควรมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร

เกร็ดความรู้ ถ่ายภาพ \'ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี\' คืนนี้ 30 ส.ค.

ที่มา : narit.or.th