การโพสต์หรือแชร์รูปภาพ ไม่มีความรับผิดทางอาญาตาม PDPA

การโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคล อย่างภาพใบหย่า ข้อมูลประวัติอาชญากรรม ภาพถ่ายใบหน้าลูกหนี้ แม้จะเข้าข่ายข้อยกเว้นการใช้บังคับกฎหมาย PDPA แต่อาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (“สคส.”) ได้เผยแพร่ความเห็นของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือและให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐเพื่อรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (“คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ”)  ในประเด็นตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA

เรื่องข้อยกเว้นการใช้บังคับ PDPA กับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคล ที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น (“การใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน”) ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับความรับผิดทางอาญาตาม PDPA ไว้หลายกรณี

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีที่สถานีตำรวจที่ได้รับแจ้งความมีข้อหารือมาที่ สคส. ว่ากรณีดังกล่าวเป็นความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 79 PDPA หรือไม่ โดยมาตรา 79 กำหนดความรับผิดทางอาญาไว้สองกรณี ดังนี้

  1. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืน…. อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืน…อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้วางกรอบแนวทางไว้ ดังนี้

  1. พฤติกรรมตามข้อหารือเป็น “การใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน” อันเป็นข้อยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายตามมาตรา 4 (1) หรือไม่
  2. องค์ประกอบความรับผิดทางอาญาตามมาตรา 79

การใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน (Private Use)

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เห็นว่า บทบัญญัติและเจตนารมณ์ของ PDPA มุ่งประสงค์จะใช้บังคับแก่บุคคล หรือนิติบุคคลที่มีการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อย่างเป็นระบบหรือเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งขององค์กรหรือของบุคคลนั้น

โดยกำหนดหลักการที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ว่าต้องมีฐานทางกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 หรือมาตรา 26 แล้วแต่กรณี และหากไม่มีฐานทางกฎหมายอื่นได้เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล

การโพสต์หรือแชร์รูปภาพ ไม่มีความรับผิดทางอาญาตาม PDPA

ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บรวบรวมจนกระทั่งการลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคล

ประกอบกับมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนด "ข้อยกเว้น" ไม่ให้นำพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับแก่การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น

กรณีดังต่อไปนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เห็นว่าอาจเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน

  1. การโพสต์ภาพใบสำคัญการหย่าในติ๊กต๊อกที่มีชื่อและนามสกุลของผู้กล่าวหาทำให้ได้รับความเสียหาย 
  2. กรณีนำข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลได้ อันเป็นข้อมูลส่วนบุคคลและยังเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติอาชญากรรมของผู้เสียหาย ที่ผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดต่อกฎหมายไปโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา
  3. ผู้ต้องหาว่าจ้างผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับเหมาต่อเติมบ้าน แต่ผู้ต้องหาเห็นว่าผู้รับเหมาทำงานไม่ดี จึงโพสต์ภาพผลงาน ความเห็น และภาพสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้รับเหมาลงในเฟซบุ๊กของผู้ต้องหาออกสู่สาธารณะ
  4. คัดลอกภาพถ่ายใบหน้าผู้เสียหายกับครอบครัว ซึ่งเป็นภาพโพรไฟล์ (Facebook) ของผู้เสียหายไปโพสต์ในเฟซบุ๊กของผู้ต้องหา ในลักษณะนำไปโพสต์ประจานเรื่องไม่ชำระหนี้แก่ผู้ต้องหาโดยผู้เสียหายไม่ได้อนุญาต
  5. กรณีที่บุคคลธรรมดาได้รับข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่น เช่น ภาพถ่ายบุคคล มาจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และนำภาพถ่ายบุคคลดังกล่าวมาเผยแพร่ในแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก พร้อมข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

การโพสต์หรือแชร์รูปภาพ ไม่มีความรับผิดทางอาญาตาม PDPA

องค์ประกอบความรับผิดทางอาญาตามาตรา 79

การใช้หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 79 วรรคหนึ่ง ต้องเกิดขึ้นจากการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้องค์ประกอบความรับผิดที่สำคัญ คือ การกระทำผิดที่กล่าวอ้างนั้น ต้องมีข้อมูลส่วนบุคคลตามาตรา 26 (sensitive data) ประกอบด้วยเสมอ ดังนั้น ภาพถ่ายโดยทั่วไป ชื่อ-สกุล ข้อมูลการติดต่อ หรือข้อมูลทางการเงิน ไม่ใช่ข้อมูลตามมาตรา 26 การใช้หรือหรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจมีความรับผิดทางอาญาได้

แต่อย่างไรก็ดี หากการกระทำของผู้ต้องหาหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นเกินสมควร ผู้กระทำอาจมีความรับผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ได้ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือประมวลกฎหมายอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท หรืออาจเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น.

อ้างอิง

  1. เรื่อง สถานีตำรวจ J ขอหารือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อกฎหมาย 
  2. เรื่อง สถานีตำรวจ H ขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒
  3. สถานีตำรวจ G ขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒
  4. เรื่อง สถานีตำรวจ E ขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒
  5. เรื่อง สถานีตำรวจ D ขอหารือการโพสต์ภาพใบสำคัญการหย่า
  6. เรื่อง สถานีตำรวจ F ขอหารือกรณีผู้ใช้ Facebook ได้โพสต์รูปภาพและข้อความ