ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าไทย

ระบบตรวจสอบย้อนกลับ กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญของการส่งออกสินค้าไทย เมื่อคู่ค้าหลายประเทศโดยเฉพาะในสหภาพยุโรปเริ่มใช้กฎระเบียบใหม่ ที่ผู้ส่งออกสินค้าจำเป็นต้องแสดงแหล่งที่มาว่าไม่ได้เกิดจากการทำลายสภาพป่า (EUDR)

หรือสหรัฐอเมริกาที่ทวีความเข้มข้นของการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยมาตรการ SOE (Strengthening Organic Enforcement) เมื่อหันไปมองคู่ค้าสำคัญในเอเชีย เช่นจีนและญี่ปุ่น ต่างก็มีกฎหมายในการระบุแหล่งที่มาของสินค้าบางชนิดอย่างเช่นข้าวแล้ว

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ และได้ริเริ่มโครงการนำร่อง TraceThai.com เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างต้นแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับ และได้ใช้ระบบนี้ในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ผ่านมา 

รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยมี “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นที่ปรึกษาโครงการอย่างต่อเนื่อง

TraceThai.com มีจุดเด่นที่การนำระบบ Blockchain แบบสาธารณะเข้ามาใช้ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำธุรกรรม เนื่องจากใครก็สามารถตรวจสอบข้อมูลในเครือข่าย Blockchain สาธารณะได้

และเป็นที่ยอมรับกันว่าข้อมูลที่จัดเก็บในระบบ Blockchain แบบสาธารณะจะไม่สามารถถูกแก้ไขได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่คู่ค้า โดยเฉพาะในต่างประเทศ

แม้ว่าข้อมูลในระบบ Blockchain จะแก้ไขไม่ได้ แต่หัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นคือความถูกต้องของข้อมูล ซึ่ง Blockchain ไม่ได้รับรองผลนั้น

ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าไทย

กระบวนการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ว่าถูกผลิตตามมาตรฐาน ไม่ปนเปื้อนเคมี จะเริ่มจากกลุ่มผู้ผลิตซึ่งมักจะเป็นวิสาหกิจชุมชน รวบรวมสมาชิกที่ยินดีจะปลูกพืชอินทรีย์

เมื่อพร้อมแล้วจะมีการจ้าง CB (Certifying Body) หรือผู้ให้บริการใบรับรองเกษตรอินทรีย์ทำการตรวจแปลง ซึ่ง CB ที่เป็นผู้ออกใบรับรองมาตรฐานสากลจะเป็นบริษัทต่างประเทศทั้งหมด

ค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองตรวจแปลงคิดเป็นรายปี เป็นหลักแสน ขึ้นกับขนาดของที่ดินและมีอายุเพียง 1 ปี โดยทั้งนี้ในใบรับรองเกษตรอินทรีย์จะมีการระบุปริมาณผลผลิตที่ใบรับรองนี้ครอบคลุมด้วย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะกล่าวต่อไป

ระบบ TraceThai.com สร้างความเชื่อมั่นว่าข้อมูลในระบบมีความถูกต้องสองวิธี 1.ให้ CB มาช่วยรับรอง เมื่อเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอัพใบรับรองในรูปแบบไฟล์ภาพเข้าสู่ระบบ 2.ใช้กลไกการซื้อขายเป็นเครื่องมือส่งสัญญาณ

วิธีแรก ตรงไปตรงมา แต่จะมีอุปสรรคที่ต้องขอความร่วมมือจาก CB หลายบริษัท และการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ดังนั้นในทางปฏิบัติ วิธีที่สองน่าจะเหมาะสมกว่า นั่นคือการออกแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับให้เชื่อมกันได้ทั้งย้อนหลังและไปข้างหน้า โดยพิจารณาว่ากิจกรรมที่ทุกหน่วยในห่วงโซ่ดำเนินการจะมีเพียง 3 กิจกรรมเท่านั้น คือ ซื้อวัตถุดิบ แปรรูป และขาย 

เช่น วิสาหกิจผู้ปลูกข้าว “ซื้อ” เมล็ดพันธุ์ “แปรรูป” ด้วยการปลูกข้าว เก็บเกี่ยว และ “ขาย” ผลผลิตในรูปข้าวเปลือกให้โรงสี เมื่อโรงสีมาต่อสายการผลิตก็เป็นการ “ซื้อ” ข้าวเปลือก “แปรรูป” โดยการสี และ “ขาย” ข้าวขาวในกระสอบให้ผู้ค้าส่งต่อไป ซึ่งแต่ละคนก็จะวนเวียนอยู่ภายในกิจกรรมเพียง 3 อย่างนี้เท่านั้น 

ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าไทย

วิธีนี้ทำให้ TraceThai.com ได้ข้อมูลการซื้อขายและส่งอีเมลเชิญให้ทุกหน่วยที่อยู่ในห่วงโซ่เข้ามาร่วมในระบบ ซึ่งนอกจากจะได้รับประโยชน์ของการมีระบบตรวจสอบย้อนกลับแล้ว ยังเป็นการควบคุมสินค้าคงคลัง และที่สำคัญคือการแสดงตัวว่าพร้อมให้ตรวจสอบ

เนื่องจากใบรับรองหลักที่ออกให้โดย CB มีการระบุปริมาณชัดเจน ในทางทฤษฎี การซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทุกครั้งจะมีการออกใบรับรองธุรกรรมนั้นไว้ด้วย แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่มีการออกใบรับรองธุรกรรมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือการตรวจสอบใบรับรองทั้งหมดแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะอาจมี CB มากกว่า 1 รายในระบบและยังไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

 จึงเกิดปัญหาการนำผลผลิตนอกแปลงมาสวมสิทธิ์กันอยู่เนืองๆ จนประเทศนำเข้าหลายแห่งโดยเฉพาะสหภาพยุโรปเริ่มส่งสัญญาณที่จะทำการตรวจสอบปริมาณที่อยู่ภายใต้ใบรับรองให้ครบถ้วน หรือ Mass Balance Check ซึ่งหากเกิดขึ้นโดยไม่มีการเตรียมการรองรับน่าจะเป็นภาระอย่างสูงต่อเกษตรกรไทย

งานวิจัยของ Yavaprabhas et al (2024) ทำการสัมภาษณ์เจาะลึกคู่ค้าในระบบ TraceThai.com และพบว่าการสร้างระบบตรวจสอบดังกล่าวบน Blockchain มีส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือระหว่างคู่ค้าใหม่ และเป็นการส่งสัญญาณที่เชื่อถือได้

เพราะคู่ค้าที่ปฏิเสธคำเชิญก็เท่ากับการส่งสัญญาณไม่พร้อมให้มีการตรวจสอบ ซึ่งผู้ที่จะค้าขายด้วยก็จะมีความเสี่ยงหากตรวจพบการปนเปื้อนภายหลัง ด้วยวิธีนี้จะเหลือแต่หน่วยธุรกิจที่ทำการค้าอย่างโปร่งใสอยู่บนระบบในที่สุด

แม้ว่าระบบ TraceThai.com จะเริ่มจากสินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่การออกแบบระบบที่ยืดหยุ่นโดยเน้น 3 กิจกรรมก็เอื้อให้มีการนำไปตรวจสอบสินค้าอื่นได้แทบทุกชนิด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยยังขาดอยู่และจำเป็นต้องใช้กลไกรัฐผลักดันให้เกิดขึ้น คือ 1. การสร้างตัวกลางที่ใช้เชื่อมโยงข้อมูล เอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการส่งออกในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 2. การร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานข้อมูลระบบตรวจสอบย้อนกลับ

ทั้งสองประเด็นนี้เป็นความท้าทายที่รัฐบาลจะต้องผลักดันอย่างเร่งด่วนต่อไป

ความท้าทายของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าไทย

คอลัมน์ Now and Beyond

ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

www.turac.tu.ac.th