ดีอีปูพรม Smart City ทั่วไทย พร้อมผลักดัน AI ช่วยงานภาครัฐ-เอกชน
กระทรวงดิจิทัลฯ เผยแผน AI Agenda ปี 68 พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมาร์ทซิตี้ครอบคลุมทั่วประเทศ มุ่งใช้เทคโนโลยี AI ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะที่บีโอไอเร่งดึงการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดันประเทศสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมกระตุ้นการลงทุนด้านดิจิทัลและเอไอ โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในงานสัมมนา “POSTTODAY Thailand Smart City 2025” ในหัวข้อ “Digital Government and Digital Economy For Smart City” ว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเมืองอัจฉริยะ โดยยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุด 100% จากเดิม 50% ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
รมว.ดีอี กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทยมุ่งเน้นการใช้ซิตี้ดาต้าแพลตฟอร์มเพื่อความปลอดภัยของประชาชน การบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ และการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบสมาร์ทโฮม โดยมีเทคโนโลยีเอไอเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งอัจฉริยะ หรือการจัดการพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองอัจฉริยะในอนาคต
“บริบทของโลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปเร็วมาก เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันจนเราแทบตามไม่ทัน” นายประเสริฐกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่ากระทรวงดิจิทัลฯ มีกลไกสำคัญ 3 ด้านในการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล ได้แก่ การสร้างความปลอดภัยมั่นคงทางดิจิทัล การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้จัดทำบัญชีบริการดิจิทัลและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทซิตี้ที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาเมือง โดยมีการจัดทำมาตรฐานและแนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนา Generative AI ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มทักษะการทำงานและการดำรงชีวิตของประชาชน ในรูปแบบของ Co-pilot ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเขียนและสรุปบทความ วิเคราะห์ข้อมูล หรือสร้างสื่อต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ
กระทรวงดิจิทัลฯ ได้วางแผน AI Agenda สำหรับปี 2568 เพื่อให้การใช้เอไอเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง ประกอบด้วย
- การสร้างกฎระเบียบและมาตรฐานควบคุม
- การพัฒนา AI กลางของภาครัฐที่ทุกคนเข้าถึงได้
- การให้ความรู้และพัฒนากำลังคน รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคอาเซียน
“วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเราก้าวไม่ทัน จะทำให้ไทยเสียโอกาส” นายประเสริฐกล่าว พร้อมย้ำว่ารัฐบาลมุ่งมั่นผลักดันให้ไทยเป็นที่หนึ่งด้านฮับดิจิทัล เอไอ และบล็อกเชน โดยการลงทุนของกูเกิลมูลค่า 1 แสนล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2568 จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ล่าสุด ความมุ่งมั่นของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม เมื่อบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติโครงการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ 2 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท จากบริษัทระดับโลกอย่างกูเกิลและ GDS ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ
ด้าน นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า โครงการแรกเป็นการลงทุนจากบริษัท ควอตซ์ คอมพิวติ้ง ในเครือ Google มูลค่า 32,760 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี จะเป็นศูนย์ Data Center แห่งที่ 5 ในเอเชีย มีกำหนดเปิดให้บริการต้นปี 2570 ส่วนโครงการที่สองเป็นของบริษัท ดิจิทัลแลนด์ เซอร์วิสเซส ในเครือ GDS มูลค่า 28,000 ล้านบาท จะเปิดให้บริการในปี 2569 โดยทั้งสองโครงการจะสร้างการจ้างงานในท้องถิ่นและดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก
ศูนย์ข้อมูลทั้งสองแห่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการรองรับการใช้งานเทคโนโลยี 5G, Cloud Computing และ AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาค
โดยปัจจุบัน มีโครงการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 173,000 ล้านบาท จากบริษัทชั้นนำทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อศักยภาพด้านดิจิทัลของประเทศไทย
“บีโอไอเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุน บริษัทระดับโลกหลายบริษัทใช้ไทยเป็นเบส เช่น อะโกด้า (Agoda) โดยมีสำนักงานที่เซนทรัลเวิล มีบุคลากรไทยหลายพันคนที่ถูกการจ้างงาน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยิ่ง” นายนฤตม์ กล่าว
พร้อมเสริมว่าบีโอไอยังคงเดินหน้าดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศด้านดิจิทัลของประเทศไทย