'ชัชชาติ' ชูแอพพลิเคชัน Traffy fondue ดัน กทม.สู่สมาร์ทซิตี้
“ชัชชาติ” ดัน กทม.สู่สมาร์ทซิตี้ด้วยเทคโนโลยี ชูแอพพลิเคชัน “Traffy fondue” รับร้องเรียน 24 ชั่วโมง หวังยกระดับคุณภาพชีวิตที่ตอบโจทย์ประชาชน ขณะที่บริการสาธารณะดึง GPS ตรวจจับไฟฟ้า - จุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมสร้างพื้นที่สีเขียว เพิ่มเป้าหมายปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ร่วมสัมมนา POSTTODAY Thailand Smart City 2025 “การจัดการเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและ AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” ในหัวข้อ “Bangkok Beyond : 3 Years and Smart City” โดยระบุว่าสมาร์ทซิตี้ในมุมมองภาครัฐอย่าง กทม. ซึ่งมีทรัพยากรจำกัด จึงมองเรื่องการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ในเรื่องของการพัฒนาคนเป็นหลัก การลงทุนที่ตอบโจทย์ประชาชน และเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการใน กทม.หลากหลายประเภท และส่วนใหญ่เน้นเรื่องความอัจฉริยะ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน อาทิ ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ รถเมล์อัจฉริยะ ซึ่งแม้ว่าจะมีป้ายจุดจอดเหล่านี้แต่กลับพบว่าประชาชนยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะแท็กซี่และรถเมล์ยังไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ป้ายจุดจอดอัจฉริยะจึงไม่ได้ใช้งาน
ดังนั้น กทม.มองว่าสิ่งที่ควรผลักดันหลังจากนี้ คือการเดินหน้าไปด้วยความเป็นไปได้ เอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ และต้องโปร่งใสดี ประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบ เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น Traffy fondue โดยประชาชนทุกคนสามารถเป็นกล้องวงจรปิด ถ่ายภาพปัญหาและร้องเรียนเรื่องต่างๆ มายังเจ้าหน้าที่ กทม.ตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นยังติดตามสถานการณ์แก้ไขปัญหาได้ตลอด เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ในแบบที่ประชาชนต้องการ
“แอพพลิเคชั่น Traffy fondue เราเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2565 ปัจจุบันมีคนชมและด่ามา 7 แสนเรื่อง แก้ไขเรียบร้อย 5 แสนเรื่อง ซึ่งถือเป็นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ประชาชนมีอำนาจในการใช้บริการและแก้ไขปัญหาได้ทันที อีกทั้ง กทม.ยังพัฒนาเปิดเผยข้อมูลการทำงานต่างๆ ของภาครัฐด้วยเทคโนโลยี ประชาชนตรวจสอบการทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้ และเปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น”
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะในแบบที่ประชาชนต้องการ กทม.ยังพัฒนาระบบการขออนุญาตงานก่อสร้างผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ เพื่อแก้ปัญหาทุจริต และสามารถรู้ผลรับใบอนุญาตได้ภายใน 14 วัน ซึ่งหลังจากนี้ กทม.จะพัฒนาระบบติดต่อของแต่ละสำนักงานเขต ทุกอย่างที่ขออนุญาตผ่าน กทม.ต้องขึ้นระบบออนไลน์ที่ติดตามได้
นอกจากนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก กทม.มีรถไฟฟ้าครอบคลุม กำลังจะครบ 400 กิโลเมตร แต่ยังขาดขนส่งเชื่อมต่อ ดังนั้นสมาร์ทซิตี้อาจไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย กทม.จึงจะพัฒนาทางเท้าที่ดี 1,000 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับแนวรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 800 กิโลเมตร รวมทั้งทำ Bike Sharing แตะจ่ายเช่าจักรยานได้เพื่อทำให้ทุกการเดินทางใน กทม.สะดวกมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กทม.ยังนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาใน กทม.มายาวนาน โดยตอนนี้ใช้เทคโนโลยีจับพิกัดจุดเสี่ยงน้ำท่วม พบว่ามี 737 จุด ตรวจวัดจากช่วงน้ำท่วมสูงสุด หลังจากนั้นจับพิกัดจุดเสี่ยงเพื่อเร่งแก้ไขโดยเร็ว อีกทั้งเพื่อยกระดับเรื่องปลอดภัย กทม.ยังเปลี่ยนหลอด LED โดยมีเป้าหมาย 2 แสนดวง และตรวจจับพิกัดไฟฟ้าทั่ว กทม. ด้วยระบบ AI เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้า กำหนดเวลาปิด-เปิด เป็นเทคโนโลยีที่ไม่แพงและบริหารไฟฟ้าเพื่อประหยัดค่าไฟด้วย
นอกจากนี้ การสร้างเมืองสีเขียวเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของ กทม.ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเดิมกทม.มีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น แต่ปัจจุบัน 2 ปี 5 เดือน ปลูก 1.2 ล้านต้น จึงเพิ่มเป้าหมายขึ้นเป็น 2 ล้านต้นหลังจากนี้ พร้อมทั้งจะผลักดันโครงการสวน 15 นาทีให้ได้ 500 สวน ตั้งเป้าปี 2568 เพิ่มเติมอีก 357 สวน และยังจัดพื้นที่ Green List รถบรรทุกห้ามเข้าเพื่อลดปัญหา PM2.5 ถ้ารถบรรทุกมีความจำเป็นต้องเข้าพื้นที่ต้องไปลงทะเบียนก่อน
“กทม.เรายังพัฒนาในด้านเศรษฐกิจดี โดยปรับปรุงพื้นที่แผงลอยใหม่ ทำระบบยืนยันตัวเองก่อนมาขาย ปิดถนนคนเดิมสร้างเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังแก้ไขปัญหาเรื่องถนนพังจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยได้ติดเซนเซอร์ใต้สะพาน เพื่อเก็บข้อมูลรถบรรทุกเกิน และนำข้อมูลไปฟ้องศาล ซึ่งตอนนี้ตรวจจับไปแล้ว 49 ราย อีกทั้งยังใช้ AI ตรวจับมอเตอร์ไซด์บนทางเท้า ซึ่งตรวจจับไปแล้ว 4.2 หมื่นราย ได้ค่าปรับ 2.3 แสนบาท ลดอุบัติเหตุทางถนนลง 30%”
นายชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเดินหน้าพัฒนาเมือง ส่วนตัวมองว่าสิ่งสำคัญ คือ การกำหนดเป้าหมายเพื่อให้สำนักงานแต่ละเขตดำเนินการให้ชัดเจน มีตัวชี้วัดผลงานที่ชัดเจน เพราะเมืองจะดีขึ้นเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ด้วยการร่วมมือของทุกเขต และเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมจะตอบโจทย์การใช้งานของคนในกรุงเทพฯ มากขึ้น ส่วนความท้าทายในอนาคต คือ ความโปร่งใส ทุจริตคอร์รัปชัน ถ้าแก้ตรงนี้ได้เมืองจะดีอีกมาก