คุยเรื่อง Agentic AI ต่างหรือเหมือนกับ Generative AI ?
เปิดโลกความต่างระหว่าง “เอไอผู้สร้างสรรค์ (Generative AI)” และ “เอไอผู้จัดการ (Agentic AI)” โดยปี 2568 นี้จะเป็นปีที่เอเจนต์เอไอถูกพัฒนาและนำมาใช้จริงมากยิ่งขึ้น
1 - 2 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า “Generative AI” หรือ “เอไอผู้สร้างสรรค์” เอไอเหล่านี้พัฒนาจากโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) มาในรูปแบบของแชตบอตตอบคำถามตัวดัง เช่น ChatGPT, Google Gemini, Claude และ Llama หรืออย่างในไทยก็มี ThaiGPT ทำหน้าที่ทำตามคำสั่งที่มนุษย์คีย์ (Prompt) เข้าไป
ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2567 วงการเอไอกำลังก้าวไปอีกหนึ่งขั้น บริษัทเทคยักษ์ใหญ่หลายเจ้าต่างเร่งพัฒนา “Agentic AI” หรือ “เอไอผู้จัดการ” ที่มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น และยังทำงานได้อัตโนมัติ
บริษัทโอเพนเอไอ (Open AI) ผู้พัฒนาแชทจีพีที ได้แบ่งระดับความก้าวหน้าของเอไอเป็น 5 ระดับ เพื่อขยายภาพให้ชัดเจนขึ้น โดยแบ่งเป็นดังนี้
- ระดับที่ 1: แชตบอต (Chatbots) – เอไอที่เน้นการตอบสนองทางบทสนทนา พูดคุย และตอบคำถามทั่วไป
- ระดับที่ 2: ผู้ให้เหตุผล (Reasoners) – เอไอที่สามารถสื่อสาร วิเคราะห์ และแก้ปัญหาได้ใกล้เคียงมนุษย์
- ระดับที่ 3: ตัวแทน (Agents) – เอไอที่ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูล แต่สามารถดำเนินการแทนมนุษย์ได้
- ระดับที่ 4: ผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators) – เอไอช่วยคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม
- ระดับที่ 5: องค์กร (Organizations) – เอไอที่สามารถทำงานเทียบเท่าทั้งองค์กร
ทีมบริหารของโอเพนเอไอประเมินว่าเทคโนโลยีของบริษัท เช่น o1 (โอวัน) มีความสามารถอยู่ในระดับ 1 แต่กำลังเข้าใกล้ระดับ 2 คือ เป็นระบบที่แก้ปัญหาเบื้องต้นได้เอง มีความสามารถเทียบเท่ามนุษย์ที่จบปริญญาเอก
เดือนพ.ย. ของปี 67 มีรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า ทางโอเพนเอไอกำลังจะปล่อยเอเจนต์เอไอที่สามารถทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้หลากหลายหน้าที่แทนบุคคลได้
ยกตัวอย่างเช่น เขียนโค้ด ไปจนถึงจองตั๋วเที่ยวบิน เรียกง่ายๆ ว่า เป็น “เลขาส่วนตัว” โดยจากการประชุมพนักงาน เครื่องมือดังกล่าวชื่อว่า “Operator” ซึ่งจะเปิดเป็นแบบพรีวิวสำหรับทดลองใช้ภายในเดือนม.ค. ปี 2568 นี้ ผ่านทาง API ของบริษัทเพื่อให้นักพัฒนาเข้ามาใช้งาน
นอกจากนี้ บริษัท เซลส์ฟอร์ซ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านลูกค้าสัมพันธ์ตั้งเป้าสร้างเอเจนต์เอไอกว่าพันล้านตัวภายในปีนี้เช่นเดียวกัน ด้านไมโครซอฟท์ประกาศชัดว่า “SaaS กำลังจะหมดยุค” และจะถูกแทนที่ด้วยเอเจนต์เอไอที่ทำงานได้อัตโนมัติ แอนโทรปิกเปิดตัว Computer Use ที่ประมวลผลงานบนคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ และกูเกิลก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีในแนวทางเดียวกัน
กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสได้สัมภาษณ์ รัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ผู้บริหารสยามเอไอคลาวด์ โดยเขาให้ความเห็นว่า ปี 2568 นี้จะเป็นปีที่เอเจนต์เอไอถูกพัฒนาและนำมาใช้จริงมากยิ่งขึ้น และจะเกิดยูสเคสใหม่ๆ อีกมากมาย
เอไอผู้สร้าง vs เอไอผู้จัดการ เหมือน-ต่างกันอย่างไร?
Generative AI เหมือนศิลปินหรือนักเขียนที่รอรับ “การบรีฟ” สร้างสรรค์ผลงานตามโจทย์ที่ได้รับ อาศัยประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมา หากเรียกในภาษาเอไอก็คือ เรียนรู้จากที่เทรนมา แต่ไม่สามารถเรียนรู้หรือปรับตัวจากการโต้ตอบใหม่ๆ ได้ ต้องอาศัยมนุษย์ป้อนคำสั่ง (Prompt) และคอยปรับแต่งจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจ
เช่น DALL-E ที่วาดรูปตามคำอธิบาย ChatGPT ที่เขียนบทความหรือตอบคำถาม หรือ GitHub Copilot ที่ช่วยเขียนโค้ดโปรแกรม
ขณะที่ Agentic AI นั้นต่างออกไป เปรียบเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่ทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ เช่น AutoGPT, BabyAGI หรือ Gemini Advanced with Deep Research ที่สามารถวางแผน ตัดสินใจ และปรับเปลี่ยนการทำงานได้ตามสถานการณ์ เหมือนมีสมองของตัวเอง
ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการจัดประชุมสำคัญ เอเจนต์เอไอจะเป็นเหมือนเลขาที่จัดการทุกอย่างให้ ตั้งแต่ประสานงานกับผู้เข้าร่วม หาช่วงเวลาที่ทุกคนว่างตรงกัน ไปจนถึงส่งการแจ้งเตือน หรือถ้าต้องการสั่งเสื้อยืดให้บริษัท มันจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อมืออาชีพ ติดต่อผู้ผลิตหลายราย เปรียบเทียบราคาและคุณภาพ พิจารณาระยะเวลาจัดส่ง และเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดให้โดยอัตโนมัติ
หรืออีกหนึ่งตัวอย่าง หากเมื่อก่อนคุณใช้เจนเอไอเพื่อถามร้านอาหารในญี่ปุ่น มันก็จะลิสต์รายการร้านอาหารมาให้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ถ้าคุณใช้เอเจนต์เอไอ คุณจะสามารถวางแผนทริปไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ครบทุกกระบวนการ
เอเจนต์เอไอมีความสามารถวางแผนการเดินทาง จองตั๋วเครื่องบิน จองตั๋วที่พัก สามารถตอบสนองความต้องการของคุณราวกับเป็นเพื่อนสนิท ซึ่งทำหน้าที่ได้ครบ จบ ในแพลตฟอร์มเดียว
จุดเด่นของเอเจนต์เอไออยู่ที่ความสามารถในการตัดสินใจที่ซับซ้อน เช่น เอไอที่ดูแลการซื้อขายหุ้น จะวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาล คาดการณ์แนวโน้มตลาด และตัดสินใจซื้อขายบนพื้นฐานของข้อมูลเหล่านั้น ต่างจากเจนเอไอที่เพียงแค่เลือกคำตอบจากรูปแบบที่เคยเรียนรู้มาเท่านั้น
เมื่อเอไอทั้งสองประเภทร่วมมือกัน จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่น ในการทำแคมเปญการตลาด เจนเอไออย่าง ChatGPT จะทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟ คอยสร้างสรรค์เนื้อหาโฆษณา ขณะที่เอเจนต์เอไออย่าง AutoGPT จะเป็นผู้จัดการแคมเปญ ดูแลการโพสต์ให้ตรงเวลา ติดตามผลตอบรับ และปรับแผนการโฆษณาแบบเรียลไทม์
จุดที่ต้องระวัง-การกำกับดูแลใช้งานเอไอ
แม้เอเจนต์เอไอจะมีศักยภาพสูง แต่การนำมาใช้ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้
ประการแรก องค์กรควรมีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน ประการที่สอง เมื่อเอเจนต์เอไอมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองและตัดสินใจที่ซับซ้อนได้มากขึ้น ความโปร่งใสในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ องค์กรต้องสามารถตรวจสอบและอธิบายการตัดสินใจของระบบได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น
ประการที่สาม การที่เอเจนต์เอไอสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้เอง อาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่คาดคิด องค์กรจึงควรมีระบบติดตามและประเมินผลการทำงานอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกำหนดขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน