เครื่องหนังของคน “ตัวเล็ก”

เครื่องหนังของคน “ตัวเล็ก”

มาร์ค ดีไซน์ ส่งสัญญาณตลาดเครื่องหนังไซส์เล็กไม่ไร้ทางตัน แค่ต้องตามทันกระแสแฟชั่น รู้ซึ้งวัตถุดิบอย่างถ่องแท้

มาร์ค ดีไซน์ ส่งสัญญาณตลาดเครื่องหนังไซส์เล็กไม่ไร้ทางตัน แค่ต้องตามทันกระแสแฟชั่น รู้ซึ้งวัตถุดิบอย่างถ่องแท้ เร่งสร้างเอกลักษณ์แบรนด์ให้ลูกค้านึกถึง และรีบคว้าโอกาสเปลี่ยนตัวเองเป็น “ปลาเล็ก” ว่ายหนีคู่แข่งไซส์บิ๊ก

จากคำว่า “ศูนย์” เกิดเป็นธุรกิจรับจ้างผลิตเครื่องหนังเป็นสินค้าพรีเมียม อาทิแผ่นรองจานและแก้ว ออแกไนเซอร์ ไดอารี่ กระเป๋าสตางค์ นามบัตร แฟ้มเอกสาร ซองใส่พาสปอร์ต และอุปกรณ์ใช้ในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆว่าอุปกรณ์สำนักงานอะไรก็ได้ที่ใช้ “วัตถุดิบหนัง” เป็นส่วนประกอบได้ มาร์ค ดีไซน์ (Mark Design) ก็พร้อมเสิร์ฟ

ธีรพล สว่างอารมย์ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนมาร์ค ดีไซน์ กรุ๊ป กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากคนที่ไม่มีเงินลงทุนเลย แต่อาศัยเป็น “คนกลาง” รับออเดอร์จากลูกค้าแล้วสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานเพื่อมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง และจากกำไรส่วนต่าง กลายร่างเป็นโรงงานขนาดเล็ก โดยลงทุนซื้อเครื่องจักร จ้างแรงงาน จนสามารถรับคำสั่งซื้อได้ด้วยตนเองมากว่า 10 ปีแล้ว

ตามเทรนด์เครื่องหนัง

เถ้าแก่เอสเอ็มอีเครื่องหนัง เผยว่า เขาวางตำแหน่งของมาร์ค ดีไซน์เป็นผู้รับงานเย็บอย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องโฟกัสการคัดสรรบุคลากรที่มีฝีมือ พร้อมเฟ้นหาวัตถุดิบใหม่ๆอยู่เสมอ ซึ่งได้จากการเสาะหาเองบ้าง หรือได้รับข้อมูลจากซัพพลายเออร์ ถึงอย่างนั้น การนำมาใช้จะต้องพิจารณาจากขั้นตอนการทำงาน คือ สามารถควบคุมราคาและเวลาในการผลิตได้ด้วย

ปัจจุบันเทรนด์เครื่องหนังสำหรับผลิตสินค้าพรีเมียม มีความใกล้เคียงกับกระเป๋า ซึ่งออกแนวสปอร์ต และเรียบหรู สไตล์แมททาลิก แต่นั่นก็เป็นเพียงแนวทางสร้างแรงบันดาลใจเท่านั้น ผู้ผลิตยังต้องคำนึงถึงการนำไปใช้จริง ซึ่งตอนนี้หนังผสมพสาสติก PVC และ PU เข้ามาเป็นส่วนประกอบชิ้นงานของเขามากขึ้น

“เราจะเสนอความแปลกใหม่ ลวดลายหนังใหม่ๆ แต่ทุกครั้งเราต้องบอกความจริงกับลูกค้าว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดเอาไปใช้งานต่างกัน อย่างหนังผสมพีวีซี จะมีความแข็ง เหมาะกับการทำงานชิ้นใหญ่ๆ อย่างที่รองจาน เพราะมีความทนทานต่อการใช้งานและรอยขีดข่วนได้มากกว่า พียู ซึ่งมีความนุ่มคล้ายหนังแท้ จึงเหมาะกับงานชิ้นเล็ก ซองพาสปอร์ตหรือซองใส่นามบัตร เป็นต้น”

ธีรพล กล่าวต่อว่า หลังจากสร้างฐานตลาดสินค้าพรีเมียมแล้ว ก็ถึงคราวสร้างเอกลักษณ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้รับจ้างผลิต” มาเป็น “เจ้าของตราสินค้า”บ้าง

“ต้องย้อนกลับไปสมัยก่อนทำของพรีเมียม ผมทำไดอารีกำมะหยี่ห่อด้วยนิกเกิล ส่งให้ตลาดโรงแรมเพื่อมอบหรือจำหน่ายเป็นของที่ระลึก แต่เมื่อต้องโฟกัสงานสินค้าพรีเมียม เราก็หยุดตรงนั้นไป ถึงเวลานี้ผมอยากปัดฝุ่นนำไดอารีมาทำใหม่ โดยใช้วัตถุดิบหนัง และวัตถุดิบอื่นๆในลักษณะแฮนเมด มาผสมผสานให้เกิดความหรูหรา ติดแบรนด์ตัวอักษร M ลายกนกเพื่อทำตลาดลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ”

ทำเพื่อลูกค้ารายเล็ก

ถ้าถามว่าจุดขายของตราสินค้ารายนี้อยู่ตรงไหน ดีไซน์หรือรูปลักษณ์สินค้าไม่ใช่คำตอบเดียว เพราะจุดเด่นของมาร์คดีไซน์ คือการสร้างความแข็งแรงให้กับผู้ผลิตไซส์จิ๋ว ด้วยการอุดรอยรั่วของตลาดรับจ้างผลิตรายใหญ่ ขันอาสารับผลิตสินค้าจำนวนน้อยชิ้นในเวลาอันสั้น

ธีรพล บอกว่า ฝีมือการตัดเย็บและความประณีตเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่แล้วสำหรับคนเป็นผู้ประกอบการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายรายสามารถการันตีเรื่องนี้ได้เหมือนกัน

นั่นแปลว่าวิธีสร้างความต่างอยู่ที่การบริการ วิธีการเจรจา ชี้แนะและแสดงความเห็น โดยนำเสนอตัวอย่างให้ดูว่าเหมาะสมกับลักษณะงานของลูกค้าอย่างไร พร้อมกำหนดเวลาส่งงาน ซึ่งระยะเวลา รวมทั้งปริมาณที่ยืดหยุ่น สามารถรับสั่งทำตั้งแต่ 1 ชิ้นขึ้นไปและรับงานได้อย่างรวดเร็ว

“เราทำธุรกิจโดยอาศัยช่องว่างตลาดใหญ่ที่ผู้ประกอบการใหม่สอดตัวเข้าไปได้ เราไม่ต้องไปต่อสู้กันในตลาดน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) ที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งเหตุผลที่ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่สามารถรับงานปริมาณน้อยๆได้ เพราะเขามีค่าใช้จ่ายสูง หากรับทำงานชิ้นเล็กจะไม่คุ้มทุน ในขณะที่เราเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีแรงงานไม่มาก จึงมีความยืดหยุ่นสูงนั่นเอง”

ผู้ผลิตสินค้าพรีเมียม มาร์ค ดีไซน์ ขยายความต่อว่าตลาดผู้ผลิตสินค้าพรีเมียมปัจจุบัน โรงงานใหญ่ซึ่งรับออเดอร์อยู่ที่ 1 หมื่นถึงหลักแสนชิ้นขึ้นไป ครองตลาดกว่า 70% ส่วนโรงงานขนาดกลาง รับงานที่ 5 พันถึงหมื่นชิ้นกับรายเล็กๆที่รับงานหลักสิบหลักร้อยชิ้น มีสัดส่วนการตลาดอยู่ที่ 30%

แม้จะมองเป็นตัวเลขที่น้อย แต่ธีรพลบอกว่านั่นคือโอกาสที่มาก สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กๆอย่างเขา เพราะกลุ่มลูกค้าในหมวด 30%นี้ยังมีปริมาณมาก และมีอัตราเติบโตสูง พฤติกรรมผู้บริโภคมักพึงใจกับการสรรหาสินค้าพิเศษที่มีจำนวนน้อยชิ้น แต่ตลาดโรงงานใหญ่กลับปฏิเสธเพราะมองถึงความคุ้มทุนมากกว่า

“ลูกค้าตอนนี้ไม่มองเรื่องราคามาเป็นใหญ่แล้ว แต่มองเรื่องความพึงพอใจ คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ ลูกค้าหลายรายมักบอกว่าเขาต้องการจำนวนเท่านี้ เมื่อคำนวนเงินกับการใช้งานแล้ว เขาไม่จำเป็นต้องสั่งปริมาณมากๆ พอเราเสนอราคาไป เขาก็ยินดีจ่าย”

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างให้โลกรู้ว่า ถึงจะตัวเล็ก แต่ก็ดิ้นได้ในตลาดเครื่องหนังแข่งขันสูง