ไขปมฟอสซิล 12 ล้านปีเต่าหับ
มหาวิทยาลัยมหาสารคามไขปม 12 ล้านปีเต่าหับแห่งอุษาคเนย์กำเนิดในไทย ในชื่อ คูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส เป็นฟอสซิลเต่าน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก
ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถลงไขปริศนาเต่าฮับล้านปีแห่งอุษาคเนย์กำเนิดในไทย เพื่อเปิดเผยการค้นพบฟอสซิลเต่าชนิดใหม่ของโลกในชื่อ คูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส
น.ส.วิไลลักษณ์ นาคศรี นักศึกษาปริญญาเอก เจ้าของผลงานการศึกษาฟอสซิลเต่าชนิดนี้ กล่าวว่า เต่าคูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส เป็นเต่าน้ำจืดในสกุลเดียวกับเต่าหับปัจจุบัน แต่ชิ้นส่วนฟอสซิลที่ค้นพบมีอายุประมาณ 11-12 ล้านปี พบที่บริเวณเหมืองถ่านหินเชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เมื่อ 11 ปีก่อน โดย นายนิกร วงค์ไชย พนักงานธรณีวิทยาประจำเหมือง จึงเป็นที่มาของชื่อชนิด เชียงม่วนเอนซิส จึงหมายถึง เต่าคูโอร่าแห่งเชียงม่วน
ทั้งนี้ เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีวิวัฒนาการเริ่มต้นมาตั้งแต่หลายร้อยล้านปี เป็นเพื่อนร่วมยุคมากับไดโนเสาร์ แม้ว่าเต่าที่อยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไป แต่ก็มีการวิวัฒนาการเป็นเต่าชนิดใหม่ที่มีรูปร่าง ขนาด ลักษณะ แตกต่างกันไป โดยเต่าสกุล คูโอร่า เป็นเต่าน้ำจืดกลุ่มที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ในประเทศไทยรู้จักกันดีในชื่อ เต่าหับ
จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะ ที่พบที่เหมืองเชียงม่วน กับฟอสซิลเต่าชนิดอื่นในสกุลคูโอร่าที่เคยพบในประเทศจีน อายุประมาณ 8-9 ล้านปี และประเทศญี่ปุ่น อายุประมาณ 2 ล้านปี รวมทั้งกระดองของเต่าปัจจุบันชนิดอื่น ๆ ในสกุลนี้ พบว่ามีลักษณะที่แตกต่างไปจากเต่าชนิดอื่นๆ ในสกุลนี้ทั้งหมด จึงได้รับการยืนยันว่าเป็นเต่าชนิดใหม่ของโลก
ที่สำคัญคือฟอสซิลของเต่า คูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส มีลักษณะใกล้เคียงกับเต่าสกุล คูโอร่า ในปัจจุบันมากที่สุด หลักฐานการค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการ เผยโฉมฟอสซิลเต่าสกุลปัจจุบันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย และถือว่าเต่าคูโอร่าแห่งเชียงม่วนเป็นบรรพบุรุษเต่าหับที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้อธิบายว่าเต่าสกุลคูโอร่ามีการแพร่กระจายพันธุ์เฉพาะในทวีปเอเชียเท่านั้น โดยปัจจุบันพบทั้งสิ้น 10-12 ชนิด และที่พบเป็นฟอสซิล 3 ชนิด จากการศึกษาความสัมพันธ์ทาง วิวัฒนาการของเต่าในสกุลคูโอร่าทั้งหมด พบว่าคูโอร่า เชียงม่วนเอนซิส มีสายวิวัฒนาการใกล้ชิดกับเต่าหับ และเต่าสกุลนี้ที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด จึงอาจกล่าวได้ว่าเต่าหับที่แพร่กระจายทั่วเอเชียในปัจจุบัน มีจุดกำเนิดมาจากประเทศไทย เมื่อ 12 ล้านปีก่อน ในยุคสมัยไมโอซีนตอนกลาง
ดร.ไฮยัน ตง หนึ่งในคณะผู้วิจัย และผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา กล่าวว่า ความหลากหลายของฟอสซิลเต่าโบราณในประเทศไทยค่อนข้างมีความสมบูรณ์ พบตั้งแต่ในยุคไทรแอสสิกตอนปลาย (ประมาณ 220 ล้านปี) จนถึงยุคปัจจุบัน และอาจพูดได้ว่าเป็นประเทศที่มีการบันทึกเรื่องราวของฟอสซิลเต่าได้ดีที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ว่าได้
ตลอดระยะเวลากว่าสามสิบปีที่ผ่านมางานวิจัยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในมหายุคมีโซโซอิก (ประมาณ 248-65 ล้านปี) หรือที่รู้จักกันในยุคไดโนเสาร์ แต่เต่าในยุคเทอร์เชียรี (ประมาณ 65-2 ล้านปี) มีการศึกษาค่อนข้างน้อย