อักขระเชื่อมโลก

อักขระเชื่อมโลก

ตัวอักษรที่ขีดเขียนบ่งบอกความเป็นตัวตน เช่นเดียวกับธุรกิจที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษรมาช่วยสร้างเอกลักษณ์

สาลินีย์ ทับพิลา - รายงาน

ตัวอักษรที่ขีดเขียนบ่งบอกความเป็นตัวตน เช่นเดียวกับธุรกิจที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษรมาช่วยสร้างเอกลักษณ์ ผลักแบรนด์ให้แตกต่าง

บอริส โกชาน ผู้อำนวยการสมาคมนักออกแบบอักษรศิลป์แห่งนคร (tgm: the Munich Typography Society) กล่าวว่า การเขียนเป็นการแสดงออกถึงตัวตนและปัจเจกของบุคคล เป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพรูปแบบหนึ่งของโลก ทุกตัวอักษรที่เขียนขึ้นถือเป็นการออกแบบตัวอักษรเฉพาะตัวผู้เขียนเอง

:: ดีไซน์ตอบโจทย์ธุรกิจ

อุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษรนั้น บอริสมองว่า แม้จะยังไม่มีการเก็บสถิติว่า การออกแบบตัวอักษรสามารถทำรายได้ให้ภาคธุรกิจมากแค่ไหน แต่ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีไม่ได้

“หากแบรนด์ 3-4 แบรนด์ ขายสินค้าแบบเดียวกัน ต้องใช้ตัวอักษรเดียวกันในการทำการตลาด ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ โบรชัวร์ สื่อสิ่งพิมพ์หรือการประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ทุกอย่างก็จะเหมือนกัน เหมือนคนที่พูดด้วยเสียงแบบเดียวกันหมด ไม่มีความแตกต่าง”

ผู้อำนวยการสมาคมนักออกแบบอักษรศิลป์แห่งนคร ชี้ว่า การออกแบบตัวอักษรจึงเข้ามามีบทบาท เนื่องจากตัวอักษรที่หลากหลายจะสามารถบอกอารมณ์ ความรู้สึก และความหมายที่แตกต่างกันตามเป้าประสงค์ที่ต้องการจะสื่อสารออกไป

ภาคธุรกิจไม่น้อย ที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบตัวอักษร บอริสยกกรณีตัวอย่างของโนเกีย แบรนด์ระดับโลกที่ทำตลาดทุกประเทศทั่วโลก มีวิสัยทัศน์ที่จะออกแบบชุดตัวอักษรที่ไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก ในทุกภาษาที่ไม่ได้ใช้ตัวอักษรละติน

“นอกจากผลทางด้านอารมณ์และความรู้สึกที่ไปในทางเดียวกันทั่วโลก การออกแบบตัวอักษรยังมีผลในด้านต้นทุนอยู่ เนื่องจากการที่บริษัทข้ามชาติ ต้องใช้ตัวอักษรที่หลากหลายในแต่ละประเทศ จำเป็นต้องจ่ายเงินก้อนโตซื้อลิขสิทธิ์ตัวอักษรแบบต่าง ๆ จนบางครั้ง อาจจะแพงกว่าการที่ต้องลงทุนพัฒนาและออกแบบตัวอักษรของตนเองก็เป็นได้”
นอกจากโนเกียแล้ว บอริสเผยว่า ยังมีบริษัทระดับโลกอีกมากมายที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็น Bosch บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติเยอรมนี หรือการรถไฟของเยอรมนี เป็นต้น

:: ไทยสู่สากล

อนุทิน วงศ์สรรคกร จากสตูดิโอออกแบบและให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์การออกแบบ Cadson Demak กล่าวว่า การออกแบบตัวอักษรในตลาดประเทศไทยนั้น เจริญเติบโตอย่างน่าสนใจ จากการริเริ่มบริษัท Cadson Demak 15 ปีที่แล้ว โดยที่ลูกค้ายังไม่รู้จักและไม่เข้าใจความสำคัญของการออกแบบตัวอักษร แต่ปัจจุบัน ทั้งนักออกแบบรุ่นใหม่ รวมถึงเจ้าของธุรกิจเองเห็นตัวอย่างและเข้าใจถึงความสำคัญของตัวอักษร

“ธุรกิจออกแบบตัวอักษร กลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้ และอัตราการเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความต้องการใช้งาน โดยเฉพาะจากกลุ่มอุตสาหกรรมข้ามชาติที่อยากจะเข้ามาทำตลาดท้องถิ่นในประเทศไทย ด้วยตัวอักษรที่เข้าถึงผู้ใช้ชาวไทย” อนุทินย้ำ

ในส่วนของอุตสาหกรรมออกแบบตัวอักษรทั่วโลก บอริสชี้ว่า ยังไม่มีข้อมูลของอัตราการเติบโตในส่วนของตัวอักษรนอกตระกูลโรมัน แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมการออกแบบและการส่งออกตัวอักษรในภาพรวมนั้น มีหน่วยงานและองค์การที่เกี่ยวข้อง อาทิ MyFonts, Fontshop, Adobe and Google ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล อีกทั้งยังมีกองทุนย่อยอย่าง Type Together, Volcano Type ซึ่งแนวทางการทำงานของบริษัทเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเขียนเพื่อการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นภาษาใด

เทรนด์การออกแบบตัวอักษรทั่วโลกในปัจจุบัน บอริสมองเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Unicode เป็นการออกแบบชุดตัวอักษรที่เป็นชุดเดียวกันทั่วโลก ใช้ได้ทุกชาติทุกภาษา, Yesterday’s alive เป็นการออกแบบตัวอักษรใหม่ๆที่มีการอ้างอิงตัวอักษรเชิงประวัติศาสตร์ในอดีต โดยผู้สร้างเชื่อมโยงงานจากอดีตถึงแนวคิดที่มีมิติในโลกปัจจุบัน และยังมีความเป็นการค้นพบวิธีการเขียนลายมือในเชิงประวัติศาสตร์ และ Form follows sense ในด้านหนึ่งมีการพัฒนาอย่างน่าเหลือเชื่อการออกแบบตัวอักษรสำหรับเนื้อหาต่างๆ

“สำหรับไทยและอาเซียน มองว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุนกลุ่มนักออกแบบตัวอักษร ในแง่ของการจัดการแข่งขันการออกแบบระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ไทยและอาเซียนได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” ผู้อำนวยการสมาคมนักออกแบบอักษรศิลป์แห่งนครแนะ

ในขณะเดียวกัน เขาหวังว่า ภาครัฐจะส่งเสริมความพยายามในการรวบรวมตัวอักษรไทยจากความหลากหลายกลุ่มในประวัติศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและแนวคิดของสังคม ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน (SAC) ที่มุ่งสนใจในเรื่องนี้และมีการวิจัยในเชิงลึกเกี่ยวกับที่มาของตัวอักษรไทย ทั้งนี้ จะเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งถ้าประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมความหมายของการออกแบบตัวอักษรและการสร้างเอกลักษณ์