หุ่นยนต์อุตสาหกรรม มาแรง
องค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ เผย แนวโน้มการใช้งานหุ่นยนต์มากขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม
องค์กรหุ่นยนต์ระดับนานาชาติเผยจะมีการใช้งานหุ่นยนต์มากขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม
International Federation of Robotics (IFR) เผยรายงานผลสำรวจ 2014 World Robot Statistics ซึ่งระบุว่า หลังจากประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์แล้ว หุ่นยนต์อุตสาหกรรมรุ่นล่าสุดก็กำลังจะเข้าไปมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆที่ยังด้อยพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งความเป็นไปได้ก็มีสูงมาก เพราะแม้แต่ในประเทศที่ใช้งานหุ่นยนต์มากที่สุด (ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา) ก็ยังมีอัตราการใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่นถึง 7 เท่า
หุ่นยนต์อุตสาหกรรมกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยการลงทุนด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการขยายตัวเฉลี่ย 22% ต่อปีทั่วโลกในช่วงปี 2553-2556 นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า มีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากขึ้นในองค์กรต่างๆที่เลิกใช้ระบบอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม
“มนุษย์ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ” Manfred Gundel สมาชิกคณะกรรมการบริหาร IFR และซีอีโอของ KUKA Robotics กล่าว “โซลูชั่นใหม่ๆอย่างอินเตอร์เฟซ หน่วยควบคุม และซอฟต์แวร์ ทำให้กระบวนการทำงานต่างๆดำเนินไปโดยอัตโนมัติ แม้ว่าผู้ใช้งานจะไม่มีประสบการณ์การทำงานกับหุ่นยนต์เลยก็ตาม นี่จึงเป็นทางเลือกใหม่ของการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับบริษัทขนาดกลางในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ”
ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญประการหนึ่งก็คือ หุ่นยนต์น้ำหนักเบารุ่นใหม่ที่จะช่วยให้มนุษย์และเครื่องจักรสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่มีเครื่องป้องกันมากั้นกลาง ซึ่งการใช้งานเบื้องต้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ก็บรรลุผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดย Mathias Wiklund ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Comau Robotics กล่าวว่า “ความรู้ความชำนาญด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่สั่งสมในภาคยานยนต์ได้นำไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆที่ช่วยให้คนกับเครื่องจักรทำงานร่วมกันเป็นทีมได้”
ความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิสัยทัศน์ด้านการผลิตอย่างชาญฉลาด (โครงการ Industry 4.0) โดยหุ่นยนต์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานจะผลักดันให้เกิดการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันการเปรียบเทียบอัตราการใช้งานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆยังตอกย้ำถึงศักยภาพในอนาคตของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นใช้งานหุ่นยนต์ 1,520 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆใช้หุ่นยนต์เพียง 214 ตัวเท่านั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับภาพรวมของเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา
ที่มา: International Federation of Robotics