พลเมืองเน็ตเดินหน้าค้านกฎหมายดิจิทัล
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ยื่นจดหมายเปิดผนึกรัฐสภาค้าน กฎหมายดิจิทัล วอนรัฐบาลหันทบทวนผลกระทบ-เปิดรับฟังความเห็น
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (เครือข่ายพลเมืองเน็ต) กล่าวว่า ร่วมกับองค์กรเครือข่าย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียวและสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่อาคารรัฐสภาวานนี้(3 ก.พ.)
ซึ่งมีนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนายจุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้สภาปฏิรูปแห่งชาตินางสาวสารี อ๋องสมหวังประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายมณเฑียร บุญตัน คณะกรรมาธิการการสื่อสารมวลขน การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสารสนเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับเรื่อง
ทั้งนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปต่อชุดร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล”
"ทางหลักการคงไม่มีใครปฏิเสธ ทั้งต้องยอมรับว่ากฎหมายมีความจำเป็น ทว่าในรายละเอียดเนื้อหายังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง ทั้งไม่ได้เอื้อต่อการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่รัฐอ้าง"
พร้อมกันนี้ยื่นรายชื่อประชาชนที่คัดค้านชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” กว่า 20,678 รายชื่อ ซึ่งรวบรวมมาตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.
เธอกล่าวว่า เหตุที่ยื่นจดหมายเนื่องจากชุดกฎหมายชุดนี้ไม่ใช่กฎหมายทั่วไปที่ว่าด้วยการทำงานของรัฐ แต่เป็นเชิงโครงสร้างและเชิงปฏิรูปที่จะยกเครื่องการทำงานด้านทรัพยากรคลื่นความถี่ การสื่อสารโทรคมนาคม รวมไปถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรรับรู้และหาทางแก้ไข มิเช่นนั้นมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อทั้งการบริหารประเทศ และละเมิดสิทธิของประชาชน
"ที่มาวันนี้เพราะนี่ไม่ใช่กฎหมายธรรมดา แต่เป็นโครงสร้างของประเทศ วันนี้เป็นเพียงก้าวแรก ต่อไปยังต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด"
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบด้วยว่าภายหลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบ ได้เกิดเสียงสะท้อนและข้อกังวลจากหลายฝ่าย แสดงให้เห็นว่าชุดกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง แม้ว่าภาครัฐจะชี้แจงว่ายังอยู่ในขั้นตอนรับหลักการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าชุดร่างกฎหมายนี้สะท้อนเรื่องความมั่นคงมากกว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สาระของร่างกฎหมายมีข้อกังวลที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเช่น การให้อำนาจหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง ขาดกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐและกลไกคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน จนคุกคามหรือริดรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ กระทั่งขณะนี้เกิดคำถามอย่างมากทั้งเชิงโครงสร้าง และผลประโยชน์ทับซ้อน
ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ยังไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ เช่น คณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่มีกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากด้านสิทธิเสรีภาพ หรือการคุ้มครองผู้บริโภคแม้แต่ตำแหน่งเดียว
เธอกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กระบวนการร่างกฎหมายทั้งหมดไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกด้านหนึ่งแม้ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อรวบรวมส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทว่าไม่มีแนวทางที่ชัดเจนที่จะทำให้ประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
"ขอเรียกร้องให้มีการชะลอกระบวนการร่างกฎหมายและให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้โดยมีกลไกหรือกติการ่วมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและแสดงความเห็นในรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สามารถสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลได้จริง"
พร้อมกับแสดงความเห็นว่า การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลควรมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนหลักคือ การสร้างความเชื่อมั่น พร้อมๆ กับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ เปิดเสรีการแข่งขัน เป็นธรรม ไม่ควรนำความมั่นคงของชาติ มาปะปนกับความมั่นคงไซเบอร์
นางเอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน เสริมว่า ภาพรวมชุดกฎหมายดังกล่าวเป็นการย้อนกลับของอำนาจในการจัดสรรคลื่นที่เป็นทรัพยากรของชาติให้กลับไปอยู่ในอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการปฏิรูปสื่อและกิจการโทรคมนาคมต่างๆ
ดังนั้นหากกฎหมายนี้ผ่าน ก็เป็นสิ่งที่แทบสรุปได้เลยว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่แอบอิงอยู่กับอำนาจของหน่วยงานภาครัฐมากกว่าการทำเพื่อพัฒนาประเทศ
"การจะปฏิรูปให้สำเร็จเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และการให้เวลาถือเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ความจริงใจต่อการปฏิรูปประเทศ"