นายกฯสั่งห้ามเลื่อนประมูล4จี

นายกฯสั่งห้ามเลื่อนประมูล4จี

บอร์ดเศรษฐกิจดิจิทัลรับทราบ กสท คืนคลื่น 5 เมกะเฮิรตซ์ ให้ กสทช. จัดประมูล 4จี ตามแผน เล็งปรับราคาเริ่มต้นประมูลเพิ่ม

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ “บอร์ดเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน วานนี้ (15ก.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบว่า บมจ.กสท โทรคมนาคม แจ้งคืนคลื่นความถี่ย่าน 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ที่อยู่ในครอบครองจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการเปิดประมูลคลื่น 4จีในย่านความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ตามกำหนดเดิมต่อไป

ทั้งนี้การคืนคลื่นความถี่ของ กสท จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์จะส่งผลให้คลื่นความถี่ 4จีที่จะประมูลมีขนาดแถบคลื่นความถี่สมบูรณ์มากขึ้นคือ มีขนาดกว้างเพิ่มขึ้นจากเดิม 12.5 เมกะเฮิรตซ์เป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ทั้ง 2 ใบอนุญาต

โดย กสทช. จะเปิดประมูลคลื่น 4จีตามกำหนดการเดิม แต่จะปรับปรุงราคาเริ่มต้นของการประมูลจากเดิมเริ่มต้นที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท เป็น 13,000 - 14,000ล้านบาทเพื่อให้เหมาะสมกับคุณภาพคลื่นความถี่ที่ดีขึ้น

“กสท ได้แจ้งให้ทราบว่าจะคืนคลื่นความถี่ในส่วนที่ไม่มีข้อพิพาทกับเอกชนจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่นที่มีข้อพิพาท 19.5 เมกะเฮิรตซ์ ขอสงวนไว้ก่อน โดยการคืนคลื่นครั้งนี้ให้ กสทช. 

อย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้ดำเนินการประมูลคลื่น 4จี ทำให้คุณภาพของคลื่น 4จีที่จะประมูลมีคุณภาพดีขึ้นประชาชนใช้งานได้ดีขึ้น การประมูลคลื่นความถี่ 4จีในย่านความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์จะดำเนินการได้ตามกำหนดเดิม ต้นเดือน พ.ย. หลังจากที่ กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนแล้ว” นายพรชัยกล่าว

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือกันถึงการบริหารจัดการคลื่นความถี่ว่าการประมูลคลื่น 4จีจะต้องแก้ปัญหาเดิมของคลื่น 3จีที่มีข้อจำกัดเรื่องแบนด์วิธที่มีขนาดไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ ทำให้การรับส่งข้อมูล และการติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนมีปัญหาสายหลุด และอินเอร์เน็ตช้ามาก 

การขยายแถบความถี่เป็น 15 เมกะเฮิรตซ์จะทำให้ความเร็วการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าตัว นอกจากนั้นหลังจากประมูลคลื่นความถี่1800 เมกะเฮิรตซ์ ต่อไปจะดำเนินการในย่านความถี่ที่เหลือ ได้แก่ 2,600 และ 900 เมกะเฮิรตซ์เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

การคืนคลื่นของ กสท ทำให้มีจำนวนคลื่นประมูล 30 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมที่มีอยู่ 25 เมกะเฮิรตซ์ โดย กสท ต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ รวมทั้งการขอคลื่นอีก 20 เมกะเฮิรตซ์ที่เหลือ ขยายระยะเวลาการถือครองคลื่นออกไปถึงปี 2568

สำหรับมติดังกล่าวพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกสทช.ก็ยินดีรับไปปฏิบัติตาม พร้อมกันนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรียังได้กำชับว่ากสทช.ต้องจัดการประมูลให้ทันตามกำหนดเดิม ห้ามเลื่อนโดยเด็ดขาด ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รับปากว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างกสทฯและบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) พร้อมกับรายงานคณะกรรมการตามมาตรา 43 ได้ทันภายในวัน 17 ก.ค.นี้เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติเห็นชอบ

“เรื่องนี้ กสท ต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะคลื่นถือเป็นสมบัติของประเทศชาติ ไม่ใช่ของ กสท ความจริงควรจะคืนมามากกว่านี้ด้วยซ้ำ หาก กสท ไม่พอใจเรื่อง 20 เมกะเฮิรตซ์ที่เหลือและจะไปฟ้องร้องกสทช. ก็เป็นเรื่องของ กสท บอร์ดดีอีไม่นำเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องกัน”

นายพรชัย กล่าวว่า การที่ กสทต้องการเสนอเงื่อนไขดังกล่าว เพราะเกรงว่าอนาคตกสทช. จะขอคลื่นคืนมาทั้งหมด จึงขอสงวนสิทธิ์ยึดเวลาหมดอายุปี2568 ดังนั้น กสทจะไปฟ้อง กสทช.ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับมติบอร์ดครั้งนี้ และขอย้ำว่าการประมูลต้องเกิดขึ้นตามกำหนดการเดิมไม่เลื่อนแม้แต่วันเดียว

กทค.เรียกประชุมด่วนหาข้อยุติ

นายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวภายหลังได้รับทราบมติของบอร์ดีอีและรับหนังสืออย่างเป็นทางการของนายพรชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที โดยหนังสือของไอซีทีระบุในหนังสือลงวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ไอซีทีว่ายินดีคืนคลื่นความถี่ในแถบย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 5เมกะเฮิรตซ์มาร่วมประมูลกับกสทช.ด้วยความเต็มใจ พร้อมกับแนบหนังสือของกสทฯมาด้วย

ดังนั้น สำนักงานกทค.จะเรียกประชุมบอร์ดเป็นวาระพิเศษในวันนี้ (16 ก.ค.) เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาตีความวลีของหนังสือที่ไอซีทีและกสทฯส่งมา ว่ามีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ เพราะหากไม่มีก็พร้อมจะนำไปรวมในการประมูล4จีในย่าน1800 รวมเป็น 30 เมกะเฮิรตซ์เลย ซึ่งหากมติบอร์ดกทค.อนุมัติให้ดำเนินการรวมกันไปการประมูลดังกล่าวเลย ก็จะเรียกประชุมบอร์ดกสทช.ต่อในช่วงบ่ายทันที เพื่อจะได้บรรจุในไปร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล (ไอเอ็ม) และนำไปประชาพิจารณ์ในเว็บไซต์ในวันที่ 18 ก.ค.นี้

“ทุกอย่างต้องได้ข้อสรุปในสัปดาห์นี้เพราะเราจะไม่เลื่อนกระบวนการใดๆในการประมูลออไปเลย ดังนั้นการประชุมกทค.ในวันนี้ก็น่าจะทราบแล้วว่าจะเอา 5 เมกะเฮิรตซ์มารวมในการประมูลด้วยหรือไม่ แต่หากกทค.ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือไม่ได้อนุมัติอะไร ก็ไม่ต้องเรียกประชุมกสทช.แต่จะทำเป็นเพียงวาระแจ้งเพื่อทราบในวันประชุมบอร์ด22ก.ค.นี้”

“เศรษฐพงค์”ยันพร้อมรับคลื่นร่วมประมูล

พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกสทช. และประธาน กทค. กล่าวว่า ยินดีที่จะรับคืนดังกล่าวเข้าร่วมประมูล 4จีเพื่อทำให้การประมูลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ส่วนกรณีที่ กสท ประสงค์จะให้ กสทช. ขยายระยะคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่เหลืออีก 20 เมกะเฮิรตซ์ออกไปจนถึงปี 2568 จากที่ต้องสิ้นสุดใบอนุญาตปี 2561 ตามอายุสัมปทานที่ดีแทคจะสิ้นสุดลงนั้น ขอยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจดังกล่าว

กสทช.เมินโดนฟ้องล้มประมูล

นายฐากร ระบุว่า ภายใต้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯพ.ศ.2553 กำหนดสิทธิ์การถือครองคลื่นไว้อย่างชัดเจนแล้ว ว่าหากสิ้นสุดใบอนุญาตการถือครองต้องส่งคืนคลื่นมายังกสทช.เพื่อจัดสรรการความถี่นำไปประมูลต่อไป สิ่งที่บมจ.กสท โทรคมนาคมต้องการจะฟ้องกสทช.ในประเด็นสิทธิการถือครองก็ให้ กสท ดำเนินการไป กสทช. ไม่ได้กังวลอะไรเลย เพราะกฎหมายชัดเจนอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ต้องการทำความเข้าใจว่าใบอนุญาตประกอบกิจการ กับใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ เป็นคนละใบอนุญาตกัน กสท ก็ควรทำความเข้าใจด้วย แม้จะยืนยันสิทธิตามใบอนุญาตประกอบกิจการไปจนถึงปี 2568 แต่ย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด สิ้นสุดสัมปทานลงกับ กสท ตั้งแต่ปี 2556 ถือว่าได้สิ้นสุดใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่แล้วด้วย

อย่างไรก็ดี กรณีการขยายสิทธิ์ถึงปี 2568 ตามที่ กสท ต้องการให้รับรอง กสทช. ดำเนินการไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจรับรอง แต่สิทธิที่ทำให้ได้ คือหาก กสท มาขออัพเกรดเทคโนโลยีของคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ไม่ได้ใช้งานมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยี 4จีแอลทีอี กสทช.จะทำให้ได้

ตั้งกรรมการกำหนดแผนใช้สาย

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กสทช. เร่งรัดการจัดทำแนวทางการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมร่วมกันเพื่อให้เกิดความประหยัดต่อการลงทุน และไม่เป็นภาระของภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อรองรับการให้บริการ 4จีมากเกินไป เพื่อช่วยให้ค่าบริการไม่สูงจนเป็นภาระของผู้บริโภคในอนาคต รวมทั้งยังมอบหมายให้ทบทวนค่าบริการดิจิทัล เกตเวย์ ในส่วนของสายเคเบิลใต้น้ำที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีอัตราค่าบริการที่เหมาะสม แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ประเทศสิงคโปร์ได้ 

นอกจากนั้นยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ปัญหาเรื่องทัศนียภาพของสายส่งไฟฟ้า สายเคเบิล โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ โดยมีแนวคิดนำสายไฟและสายเคเบิลลงใต้ดินโดยให้ประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วางแผนร่วมกัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานกำหนดแผนการนำสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงร้อยท่อใต้ดินในกรุงเทพมหานคร มีนายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน

ขอค่าไฟราคาพิเศษดาต้าเซ็นเตอร์

นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ส่งเสริมนโยบายการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งเดิมคณะทำงานมีกำหนดการดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ 

เขาคาดว่าเมื่อเร่งรัดการทำงานเร็วขึ้นจะดำเนินการเสร็จภายในเดือน ต.ค.นี้ เริ่มจากการสำรวจความต้องการของภาครัฐที่จะต้องใช้บริการดาต้า เซ็นเตอร์ โดยการลงทุนในนโยบายนี้ของภาคเอกชนจะสร้างเงินลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท จากการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์อย่างน้อย 40 แห่ง จากจำนวนหน่วยความจุคอมพิวเตอร์ 10,000 แร็คส์ ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นตารางเมตร 

ขณะนี้มีภาคเอกชนยื่นความสนใจเข้ามาลงทุนในนโยบายนี้แล้ว 28 ราย เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจร่วมลงทุนในไทยอยู่แล้วบางส่วน 5 ราย บ่งบอกถึงแนวโน้มที่จะลงทุนจริง และภาครัฐยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สิทธิประโยชน์เว้นภาษีนิติบุคคล 8 ปี

นอกจากนี้คณะกรรมการกำลังหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอสนับสนุนอัตราค่าไฟราคาพิเศษให้ผู้ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยด้วย

“การลงทุนในนโยบายดาต้าเซ็นเตอร์ จะลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้เอกชนสนใจจะเข้ามาลงทุน เนื่องจากศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แต่ละแห่งภาครัฐจะเข้าไปเป็นลูกค้าของเอกชนในสัดส่วน 50% ซึ่งแต่ละปีภาครัฐมีงบประมาณต้องใช้เช่าและบริหารฐานข้อมูลต่างๆ อยู่ไม่ต่ำกว่า8 - 9 พันล้านบาท ซึ่งผู้ลงทุนจะมีลูกค้าเป็นภาครัฐ และยังหาลูกค้าภาคเอกชนมาเช่าพื้นที่เก็บข้อมูลได้ นอกจากนั้นยังเป็นการส่งเสริมให้ลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง เช่น การลงทุนในธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติ้ง และธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการข้อมูล ซึ่งจะช่วยสร้างกำไรได้ไม่ต่ำกว่า 30% ต่อปี และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้อย่างมาก” นายชิต กล่าว