'ทรู'เพิ่มทุน 6 หมื่นล้าน ขายผู้ถือหุ้นเดิม
“ทรู”เพิ่มทุน 6 หมื่นล้าน ขายผู้ถือหุ้นเดิม ใช้คืนเงินกู้-ขยายธุรกิจ ด้านโบรกคาดปีนี้ขาดทุน 5.2 พันล้าน
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 3 ของไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 6 หมื่นล้านบาท โดยจะออกหุ้นเพิ่มทุน 1.5 หมื่นล้านหุ้น เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น
ทั้งนี้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนดังกล่าว จะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งเป็นเงินที่กู้ยืมมาใช้ในการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานประมาณ 8 พันล้านบาท, ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านบาท จะนำไปลงทุนในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และอื่นๆ
สำหรับการเพิ่มทุนดังกล่าว จะทำให้บริษัทมีโครงสร้างทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากภาระหนี้สินลดลง ลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย ตลอดจนทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานในอนาคต
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท ยังได้อนุมัติการเข้าทำรายการได้มาซึ่งสินทรัพย์ที่มีนัยสำคัญ คือ ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดบบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TCC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TRUE ถือหุ้น 99.99%
ทั้งนี้คาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนในเฟสแรก เพิ่มเติมสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมภายใต้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ อีกประมาณ 3.26 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมเงินลงทุนเฟสแรก กับราคาประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวแล้ว มีมูลค่าของรายการคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1.09 แสนล้านบาท
แนะขายทรูปีนี้แนวโน้มขาดทุน5.2พันล้าน
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การเพิ่มทุนดังกล่าว เร็วกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ เพื่อให้ธนาคารมีความมั่นใจในการออกแบงก์การันตี และนำเงินไปจ่ายค่าไลเซ่นส์คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรก พร้อมแนะหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วง 1 เดือนนับจากนี้ เนื่องจากผู้ถือหุ้นบางส่วน อาจไม่พอใจต่อการเพิ่มทุน จึงมีการขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดลง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าราคาหุ้น ณ เดือน มี.ค.นี้ น่าจะทรงตัวได้ ก่อนจะกำหนดราคาขายหุ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับประมาณการทรู
"ส่วนตัวมองว่าราคาหุ้นทรู ในกระดานควรที่จะอยู่ที่ระดับ 6-7 บาท เพื่อจูงใจผู้ถือหุ้นให้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพราะหากราคาในกระดานต่ำกว่า มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ที่ 4 บาท นั้นจะไม่น่าสนใจลงทุน" นักวิเคราะห์กล่าว
ด้านบล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ถ้าการเพิ่มทุนครั้งนี้สำเร็จ นักลงทุนเพิ่มทุนได้ตามจำนวนที่ต้องการ พื้นฐานหุ้นจะน่าสนใจมากขึ้นกว่าเดิม และจะมีผลให้ ทรู ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
ส่วนในแง่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น เชื่อว่า ต่อจากนี้ราคาหุ้นอาจไดลูทได้อีกไม่มาก โดยอยู่ระหว่างรอข้อมูลที่ชัดเจนมาประกอบการทบทวนราคาพื้นฐานจากเดิมให้ไว้ที่ 8 บาท เบื้องต้นอาจปรับลงเล็กน้อย
"ผลกระทบราคาบนกระดานต้องรอดูในเดือน มี.ค. จึงจะประเมินได้ชัดเจน ซึ่งไม่แน่ว่าในตอนนั้นอาจมีปัจจัยอื่นมากระตุ้นราคาก็ได้ แต่คิดว่าการที่ราคาร่วงลงมาล่วงหน้า ทำให้ต่อจากนี้หุ้นคงไม่น่าตกแรงแล้ว" นักวิเคราะห์ระบุ
นักวิเคราะห์ บล. บัวหลวง กล่าวว่า การที่ทรูเพิ่มทุน จะส่งผลทำให้ฐานะการเงินมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะหากไม่เพิ่มทุน จะทำให้หนี้สินต่อทุนหรือ D/E สูงเกิน 2 เท่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากราคาในกระดานอยู่ที่ 6-7 บาท จะจูงใจให้ผู้ถือหุ้นเดิมให้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนะนำขายทรู เนื่องจากคาดดปีนี้ผลประการจะพลิกเป็นขาดทุน 5,200 ล้านบาท เพราะบริษัทต้องลงทุนจำนวนมาก จากที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต 2 ใบ การลงทุนโครงข่าย ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ โดยให้ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 4 บาทต่อหุ้น
ส่วนนักวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ธนชาต ประเมินยังมีโอกาสลงต่อ มีแนวรับ 6.20 บาท ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 6.55-6.75 บาท แนะนำหลีกเลี่ยง แต่ถ้ามีหุ้นอยู่แล้ว ควรขายตัดขาดทุนถ้าราคาหลุด 6 บาท