นวัตกรรมที่วิศวกรสรรสร้าง

นวัตกรรมที่วิศวกรสรรสร้าง

ไม่เพียงงานวิศวกรรมขั้นสูง แต่วิศวกรในแบบ มก. ยังพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ตู้อบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวแบบไม่ง้อแดด ตัวอย่างนำร่องที่แก้ปัญหาให้ผู้ผลิตปลาแดดเดียว ก่อนโดนใจเอกชน ส่งต่อเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์

“3 ปีก่อน เราได้รับโจทย์จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สมาชิกสภาจังหวัดสมุทรปราการ ต้องการเครื่องมือช่วยวิสาหกิจชุมชนบ้านสาขลา ที่ทำปลาแดดเดียว จากการที่มีปลาหมอเทศติดเข้ามาจากการสูบน้ำทะเลเลี้ยงกุ้ง และต้องการเพิ่มมาตรฐานการแปรรูป” ผศ. คุณยุต เอี่ยมสอาด ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าว

 ตู้อบปลาไม่ง้อแดด

ปลาหรือเนื้อสัตว์แดดเดียว หากใช้แสงแดดตามธรรมชาติอาจเจอปัญหาความไม่สม่ำเสมอของแดด บางครั้งเจอพายุหรือเมฆมากก็อาจต้องใช้เวลาตากหลายวัน จนเมื่อมีเทคโนโลยีตู้อบ แต่ผู้ประกอบการหลายรายเจอปัญหาลมร้อนกระจายไม่ทั่วถึง บางครั้งชั้นบนแห้ง ชั้นล่างยังชื้น ทำให้ปริมาณและคุณภาพของปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ได้ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

“ตู้อบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียว แบบไม่ง้อแดด จึงเกิดขึ้นโดยใช้หลักการเลียนแบบพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยไฟฟ้า เพื่อลดความชื้นในตัวปลาทำให้แห้งลง พร้อมออกแบบระบบไหลเวียนอากาศภายในตู้ให้สามารถกระจายลมร้อนได้อย่างทั่วถึง” ผศ. คุณยุตอธิบาย

ตู้อบนี้ มีจุดเด่นเรื่องของการทำความร้อนและลดความร้อนอย่างรวดเร็ว และยังสามารถปรับอุณหภูมิและตั้งเวลา เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิต ปริมาณ และระยะเวลาการผลิตได้ ที่สำคัญ ราคาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่ำกว่าเตาประเภทอื่น ซึ่งทีมพัฒนาออกแบบให้สามารถผลิตและประกอบได้อย่างง่ายๆ ภายในประเทศไทยเพื่อไม่ต้องซื้อตู้อบที่นำเข้าในราคาแพงจากต่างประเทศ

หลังการพัฒนาตู้อบเวอร์ชั่นที่ 2 พร้อมจดอนุสิทธิบัตร เจ้าของผลงานชี้ว่า เอกชนให้ความสนใจ ก่อนที่บริษัท โคจิ อิจิ (ไทยแลนด์) จำกัด รับถ่ายทอดเพื่อผลิตและจำหน่าย

“ปัจจุบัน ทีมได้พัฒนาตู้อบเวอร์ชั่น 3 ที่สามารถอบให้เนื้อแห้งเร็วขึ้น และพัฒนาให้ตอบโจทย์เนื้อแต่ละประเภทที่มีความหนาแตกต่างกัน ใช้เวลาอบให้แห้งต่างกัน” ผศ.คุณยุตกล่าว พร้อมชี้ว่า ได้ร่วมพัฒนากับแม่ลาปลาเผา ในการทำตู้อบปลาช่อนที่มีเนื้อหนากว่าปลาหมอเทศ  รวมถึงได้ต่อยอดพัฒนาเครื่องอบแห้งสมุนไพร ว่าจะเป็นอัญชัญ ตะไคร้ หรือผลไม้แห้ง

 นวัตกรรมเข้าถึงง่าย

ตู้อบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียว แบบไม่ง้อแดด เป็นหนึ่งผลงานวิจัยที่จะร่วมโชว์ในงาน "บนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 11 AGRINNOVATION ENGINEERING 2018" ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2561 เวลา 09.30 -17.30 น. ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยปีนี้เป็นวาระพิเศษที่ครบรอบ 80 ปี ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และตั้งใจอยากเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ในเชิงการเกษตร สามารถใช้ได้จริงและไม่ซับซ้อน เพื่อการพัฒนาชีวิตได้อย่างยั่งยืนออกสู่สาธารณชน

รศ. ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว รองคณบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า ผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานจากอาจารย์ที่ลงมือทำร่วมกับเกษตรกร โดยมุ่งเน้น นวัตกรรมเกี่ยวกับการเกษตร  เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย และจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน

“คณะวิศวกรรมศาสตร์ของเรา มีงบประมาณปีละกว่า 10 ล้านบาท สำหรับการพัฒนานวัตกรรมโดยเฉพาะ เพื่อสร้างสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ ตอบโจทย์เกษตรกรรม 4.0 โดยความท้าทายคือต้องเป็นนวัตกรรมที่ใช้ง่าย เข้าถึงง่าย และจับต้องง่าย”

นอกจากผลงานเกี่ยวกับด้านการเกษตรแล้ว ยังมีนวัตกรรมเพื่อการใช้งานในอนาคต เช่น หุ่นยนต์เพื่อการเรียนการสอนที่ไม่ใช่เป็นเพียงผลงานเพื่อการเรียนรู้เท่านั้นแต่ยังเป็นผลงานที่สามารถสร้างประโยชน์สร้างคุณค่า และเป็นความภาคภูมิใจของวิศวกรในการประดิษฐ์คิดค้นให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ และสอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน

สำหรับงานนี้คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ เกษตรกร ตลอดจนบุคคลทั่วไป เข้าชมงานกว่า 10,000 คน เพื่อพบกับนวัตกรรมและงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของด้านการเกษตร และนวัตกรรมแห่งอนาคต