'กิสยูนิต’ เทคนิคหล่อโลหะลดใช้พลังงาน คว้าสุดยอดนวัตกรรมฯ

'กิสยูนิต’ เทคนิคหล่อโลหะลดใช้พลังงาน คว้าสุดยอดนวัตกรรมฯ

“กิสยูนิต” เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่สปินออฟสู่ธุรกิจ ช่วยลดใช้พลังงานเตาหลอมโลหะ ชิ้นงานมีคุณภาพมากขึ้น คว้าชนะเลิศสุดยอดนวัตกรรม เซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ สาขาเศรษฐกิจจากผลงานเข้าประกวดกว่า 105 ผลิตภัณฑ์

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลัง10 องค์กรระดับประเทศ จัดประกวดเพื่อมอบรางวัล “สุดยอดนวัตกรรมเซเว่น อินโนเวชั่น อวอร์ดส์ 2018” ให้แก่สินค้าและบริการของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีไทย ที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ และคิดค้นนวัตกรรม ทำให้เกิดการต่อยอดหรือสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ก่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าที่สูงขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือเศรษฐกิจ โดยจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ภายใต้โครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมสำหรับประเทศ


นายชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสุดยอดนวัตกรรมฯ เปิดเผยว่า รางวัลแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคม และ รางวัลนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ผลการตัดสินในปีนี้ชนะเลิศด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ “GISS Unit” เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ของบริษัท กิสโค จำกัด รางวัลด้านสังคมนั้นไม่มีผู้ได้รับชนะเลิศ ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 PIGGIPO (พิกกิโปะ) แอพพลิเคชันจัดการหนี้บัตรเครดิตจาก บริษัท เนเวอร์ซิทอัพ จำกัด รองชนะเลิศอันดับ 2 แชมพูสมุนไพรใบหมี่ “ชีววิถี” จาก บริษัท เซนต์ บิวตี้ คอสเมติก (ประเทศไทย) จำกัดและในส่วนของรางวัล Creator Awards ได้แก่ MEiD (มีไอดี) ริสแบนด์ช่วยชีวิต จาก บริษัท วอทดอคเซส์ จำกัด


ทั้งนี้ GISS Unit สปินออฟจากห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เบริษัท กิสโค จำกัด (GISSCO Co.,Ltd) โดยมีคุณสงบ ธนบำรุงกูล เป็นผู้ประกอบการ และรศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ เป็นนักวิจัยผู้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “การหล่อโลหะแบบสเลอรี่” (Slurry Metal Casting Technology) เป็นวิธีการหล่อโลหะแบบกึ่งของแข็ง คือ น้ำโลหะที่ใช้จะไม่เหลวเหมือนน้ำ แต่จะมีความหนืดมากขึ้นคล้ายวุ้น ซึ่งคุณสมบัติของความหนืดนี้จะทำให้ได้เนื้องานที่มีคุณภาพดีกว่าแบบเดิม เพราะ เมื่อนำไปหล่อขึ้นรูปจะไม่เกิดฟอง ทำให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องฉีดชิ้นส่วนอะลูมิเนียม (Aluminum Die Casting) ได้ง่าย ข้อดีของการหล่อโลหะแบบสเลอรี่ คือ น้ำโลหะที่ใช้ไม่จำเป็นต้องมีอุณหภูมิที่สูงมากเท่าแบบเดิม ทำให้การใช้พลังงานในการหลอมโลหะลดลง ต้นทุนต่ำลง และมีคุณภาพมากขึ้น เครื่องจักรและแม่พิมพ์ก็จะใช้งานได้นานมากยิ่งขึ้น


ปัจจุบันบริษัท กิสโค จำกัด (GISSCO Co.,Ltd) ผลิตเครื่องจักรจำหน่ายเพื่อใช้งานทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้งานเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กองทัพเรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการผลิตเรือเกราะกันกระสุน และร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อพัฒนาและผลิตขาเทียมใต้เข่าที่มีน้ำหนักเบา คุณภาพสูง และได้บริจาคให้กับผู้พิการได้ใช้งานจริงแล้ว


ปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 105 ผลงาน และมีผลงานที่โดดเด่นผ่านการตัดสินให้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 26 ผลงาน แบ่งเป็นด้านเศรษฐกิจ 19 ผลงาน และด้านสังคม 7 ผลงาน แต่ละประเภทแบ่งเป็น 3 ระดับรางวัล คือ สุดยอดนวัตกรรมจะได้รับเงินรางวัล 2 แสนบาท, สุดยอดนักประดิษฐ์ เงินรางวัล 3 หมื่นบาทและรางวัลครีเอเตอร์ อวอร์ดส์ (Creator Awards) ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท ทั้งสามระดับรับพร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร


“ผลงานนวัตกรรมด้านสังคมที่ส่งประกวดในปีนี้น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา ตรงกันข้ามกับผลงานในกลุ่มแอพพลิเคชั่นจากสตาร์ทอัพที่เพิ่มขึ้นชัดเจนหรือเกือบ 90% แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่าผลลัพธ์ของผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลรวมถึงผ่านเข้ารอบได้รับการขยายไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยช่วยเหลือหรือพัฒนาชุมชนให้เกิดการสร้างมูลค่าและรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่น ฉะนั้น ในปีหน้าทางคณะกรรมการฯ จะพยายามผลักดันให้มีผลงานด้านสังคมเข้ามาประกวดในเวทีนี้ให้มากขึ้น เพราะนวัตกรรมด้านนี้มีความสำคัญ และสร้างผลกระทบที่สำคัญไม่แพ้ผลงานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ” นายชัยวัฒน์ กล่าว