'เวทีพิชชิ่ง' ช่องทางมองหาลูกจ้าง "ทาเลนท์"

'เวทีพิชชิ่ง' ช่องทางมองหาลูกจ้าง "ทาเลนท์"

ลอรีอัล แบรนด์เครื่องสำอางโลก เตรียมเพิ่มสัดส่วนช่องทางรับสมัครทีมงานผ่านเวทีแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจและเวทีพิชชิ่งของสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นแนวทางการเสาะหาบุคลากรคุณภาพระดับหัวกะทิที่องค์กรใหญ่ให้ความสำคัญ

15 ปีที่ผ่านมา “ลอรีอัล แบรนด์สตอร์ม” เวทีการแข่งขันวางแผนการตลาดระดับเยาวชนทั่วโลก กลายเป็นหนึ่งช่องทางในการ “คัดสรร” บุคลากรหัวกะทิเข้าร่วมองค์กรระดับโลกอย่างลอรีอัล ล่าสุด ทีมเบรนสตรอง 3 สาวผู้ชนะเลิศปี 2561 กับการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเสริมศักยภาพธุรกิจซาลอน พร้อมลุยแข่งที่ฝรั่งเศสมุ่งคว้าใบเบิกทางสู่องค์กรในฝัน

“หากมองเทรนด์การใช้เวทีพิชชิ่งเพื่อคัดคนเข้าร่วมงานที่หลายองค์กรขนาดใหญ่ทำนั้น สำหรับเวทีลอรีอัลแบรนด์สตอร์ม ผู้เข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ผลงานโดดเด่นจะได้รับสิทธิในการพิจารณาเข้าโครงการ Management Trainee (ผู้จัดการฝึกหัด) ก้าวสู่การเป็นพนักงานของลอรีอัล” ธนยศ ครุฑระเบียบ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวและว่า นักศึกษาหลายคนจากเวทีแบรนด์สตอร์มได้รับโอกาสทำงานและประสบความสำเร็จในเส้นทางการทำงานที่ต้องการ ทั้งในลอรีอัลสาขาประเทศไทยและประเทศอื่นๆ


รูปแบบในการหาคนเข้ามาอยู่ในครอบครัวลอรีอัลนั้น เรายังคงเน้นวิธีการดั้งเดิมเป็นหลัก แต่ความเป็นองค์กรที่มีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์และบุคลากรทั้งเพศ อายุ เชื้อชาติ ชนชั้นทางสังคม ทำให้การคัดเลือกคนรุ่นใหม่ผ่านเวทีประกวดแผนธุรกิจหรือพิชชิ่งเพิ่มสัดส่วนเป็น 15% จากเดิม 10% ของตำแหน่งงานทั้งหมด


ปัจจุบันเป็นโลกของสตาร์ทอัพและเด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจของตนเอง เวทีประกวดแผนธุรกิจหรือสตาร์ทอัพต่างๆ เป็นแบบฝึกหัดให้เด็กได้ฝึกคิด วางแผน และแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะทำให้องค์กรได้เจอคนที่มี “ทาเลนท์” จากแต่ละสถานศึกษามาเป็น “ลอรีอัล เบบี้ บอร์น" (L’Oréal Baby Born) ที่ซึมซับวัฒนธรรมองค์กร และลดการเทิร์นโอเวอร์ตัวผลิตภัณฑ์ เหมือนดังทีมชนะเลิศในปีนี้ ที่มีการผสมผสานนวัตกรรมที่ตอบความต้องการของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง


เปมิกา มาศอาณา, ภัณฑิลา จินดาสถาพรและณัชชารีย์ นิธิพรธนรัตน์ ชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากทีมเบรนสตรองคว้ารางวัลชนะเลิศ ด้วยการค้นคว้าหาปัญหา (Pain Point) และนวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด พบว่าลูกค้าที่มาใช้บริการซาลอนยังไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวังไว้เหมือนตอนแรกที่เข้าร้านทำผม จึงคิดพัฒนาโซลูชั่นเพื่อช่วยสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า เริ่มจากค้นหาทรงผมที่เหมาะกับรูปหน้าผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือเออาร์ ซึ่งช่วยให้ช่างผมสามารถให้คำแนะนำได้ทันทีจากภาพเสมือนจริง หลังจากนั้นก็ตรวจสภาพเส้นผมด้วยเครื่องสแกนวิเคราะห์สภาพเส้นผมโดยละเอียด เพื่อจะนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนการลงมือทำผมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา เพื่อหาทรงผม สูตรสารเคมีที่ต้องใช้ และระยะเวลาในการทำผมที่เหมาะสมด้วยการเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ “บิ๊กดาต้า” ที่เก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์สภาพเส้นผมจากผู้เชี่ยวชาญไว้ในที่เดียวกัน


ทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าว่า จะได้ทรงผมที่ต้องการและเหมาะกับสภาพเส้นผมของตัวเองมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการของช่างผมแบบมืออาชีพ ทั้งยังได้เก็บฐานข้อมูลของลูกค้าที่มีประโยชน์ เพื่อใช้พัฒนาการให้บริการในอนาคตได้ต่อไป พร้อมปรับปรุงแอพพลิเคชั่น Style My Hair ให้ช่วยบันทึกประวัติการทำผมของตัวเอง และค้นหาแบบทรงผมที่ต้องการ ทั้งยังสามารถจองเวลาทำผมล่วงหน้า ให้คะแนนคุณภาพของช่างและร้านทำผม และแนะนำร้านทำผมให้กับผู้ใช้คนอื่นๆ โดยลูกค้าสามารถนำคะแนนสะสมที่ได้รับจากการทำกิจกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น มาแลกเป็นส่วนลดพิเศษต่างๆ ได้อีกด้วย ทั้ง 3 สาวจะได้รับโอกาสไปแข่งขันต่อระดับโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในวันที่ 16-17 พ.ค.นี้ เพื่อแข่งขันกับตัวแทนจาก 60 ประเทศทั่วโลก ชิงรางวัลชนะเลิศ 3 ประเภท ได้แก่ แบรนด์ เทคโนโลยี และซีเอสอาร์ เงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นยูโร (ประมาณ 1.1 ล้านบาท)