‘นอร์แมนส์’หุ่นยนต์เช็คสุขภาพเท้า
“นอร์แมนส์” หุ่นยนต์ตรวจวินิจฉัยการรับรู้ความรู้สึกปลายประสาทโดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนท์ในผู้ป่วยเบาหวานผลงานทีมนักวิจัยบาร์ทแล็บ ม.มหิดล หวังพัฒนาใช้ในโรงพยาบาลตำบลทั่วประเทศ
“นอร์แมนส์” หุ่นยนต์ตรวจวินิจฉัยการรับรู้ความรู้สึกปลายประสาทโดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนท์ในผู้ป่วยเบาหวาน ผลงานทีมนักวิจัยบาร์ทแล็บ มหาวิทยาลัยมหิดล หวังพัฒนาใช้ในโรงพยาบาลตำบลทั่วประเทศ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาสะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าเดินทางไปโรงพยาบาลจังหวัด“นอร์แมนส์” หุ่นยนต์ตรวจวินิจฉัยการรับรู้ความรู้สึกปลายประสาทโดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนท์ในผู้ป่วยเบาหวาน ผลงานทีมนักวิจัยบาร์ทแล็บ มหาวิทยาลัยมหิดล หวังพัฒนาใช้ในโรงพยาบาลตำบลทั่วประเทศ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาสะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าเดินทางไปโรงพยาบาลจังหวัด
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความสวยงามและมีมาตรฐานทั้งด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และการแพทย์ หากสามารถนำอุปกรณ์นี้ไปไว้ตามสถานพยาบาลที่ห่างไกล จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีเวลาจำกัด" ปรีดิพัทธิ์ สัตยสุนทร นักวิจัยศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ หรือบาร์ทแล็บ (BART LAB) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
สกรีนผู้ป่วยเบาหวาน
ปลายประสาทเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคเส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเบาหวาน จะทำให้มีอาการปวด หรือสูญเสียความรู้สึกที่บริเวณนิ้วเท้า เท้า ขา มือและแขน ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนต้องตรวจเท้าอย่างละเอียดทุกปี เพื่อดูว่าเป็นโรคปลายประสาทเสื่อมหรือไม่ ถ้าได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ก็จะต้องรับการตรวจบ่อยครั้งมากขึ้น
การตรวจเท้าโดยละเอียดจะทำการประเมินผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก การไหลเวียนเลือด และการรับความรู้สึกที่เท้า แพทย์อาจประเมินการรับความรู้สึก โดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนท์นำมากดที่บริเวณฝ่าเท้า หากไม่รับรู้ถึงแรงกดแสดงว่า สูญเสียการรับความรู้สึกในการป้องกันตนเอง ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลที่เท้า
“ทีมวิจัยบาร์ทแล็บจึงได้นำเสนอนอร์แมนส์ (NORMaNS) หุ่นยนต์ตรวจวินิจฉัยสำหรับคัดกรองโรคปลายประสาทเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานออกมาเป็นตัวช่วยให้กับแพทย์และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ในการตรวจคัดกรองและพัฒนาให้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบ เพื่อลดความผิดพลาดจากการตรวจวินิจฉัยแบบเดิม ด้วยการออกแบบให้ใช้งานง่าย พกพาสะดวก และที่สำคัญจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในเรื่องของการป้องกันอาการบาดเจ็บจากโรคปลายประสาทเท้าและการวางแผนการรักษา” ปรีดิพัทธิ์ กล่าวถึงที่มาของการพัฒนาหุ่นยนต์
จากที่ผ่านมาแพทย์ใช้วิธีการทดสอบว่า ผู้ป่วยมีอาการปลายประสาทเสื่อมหรือไม่ด้วยการใช้เส้นใช้ใยโมโนฟิลาเมนท์ ด้วยการกดตั้งฉากกับปลายเท้าเป็นรูปตัวซี กดไว้1-2 นาทีเช็คว่า ผู้ป่วยมีความรู้สึกหรือไม่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีความยุ่งยาก และผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ต้องใช้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบอาการเหล่านั้น ทางทีมจึงคิดว่า จะพัฒนาอุปกรณ์อะไรที่สามารถตรวจอาการของผู้ป่วยเหล่านี้ให้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
แนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบอาการของผู้ป่วยนั้น เพียงแค่ผู้ป่วยวางเท้าลงไปยังอุปกรณ์ จะมีการประมวลผลเข้าไปในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาลทันที ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเชื่อมต่อเป็นรูปแบบของการแพทย์ระยะไกล(Telemedicine) เช่น ผู้ป่วยสามารถใช้อุปกรณ์นี้อยู่ที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ทีมวิจัยจึงเริ่มพัฒนาอุปกรณ์ที่ติดกับตัวเส้นใยโมโนฟิลาเมนท์ และมีจอยสติกเพื่อให้ญาติผู้ป่วยช่วยกด ระหว่างที่ตอบแบบสอบถามผู้ป่วยว่ารู้สึกหรือไม่ หลังจากตรวจสอบเสร็จ เครื่องมือจะประมวลผลผ่านระบบไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาล
ประหยัดเวลา ลดค่าเดินทาง
“ที่ผ่านมาได้ทำวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี ในการพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวมา 4 เวอร์ชั่นแล้ว เพื่อให้มีคุณภาพ ความปลอดภัย ใช้งานง่าย และสวยงาม ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลและโปรแกรมการทำงาน โดยพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบและทดสอบในอาสาสมัคร 70 คน ทั้งได้ตีพิมพ์ลงนิตยสารทางการแพทย์ ล่าสุด ได้พัฒนาให้สามารถใช้กับมาตรฐานเท้าทุกขนาด ใช้ได้ทั้งเท้าซ้ายและขวา จากทดสอบพบว่า ระหว่างใช้คนกับใช้เครื่องไม่มีความแตกต่างกัน แต่ข้อดีก็คือ ช่วยประหยัดเวลาทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้มากขึ้น”
สำหรับแนวคิดในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ นักวิจัยชี้ว่า เขาอยากจะนำหุ่นยนต์ตรวจวินิจฉัยสำหรับคัดกรองโรคปลายประสาทเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวานออกไปใช้ในสถานพยาบาลที่ห่างไกล เช่น โรงพยาบาลตำบลทั่วประเทศในราคาถูกลง หากผลิตจำนวนมากอาจไม่ถึงแสนบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณผลิต โดยใช้โมเดลธุรกิจคล้ายกับเครื่องถ่ายเอกสารตามสำนักงาน ที่ขายเครื่องและมีค่าบริการสำหรับผู้ป่วยที่เข้ามาใช้เพราะ เส้นใยจะมีความจำเพาะว่า ใช้หนึ่งชุดต่อผู้ป่วยหนึ่งคน ผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะแค่ค่าเส้นใย
"ที่ผ่านมาทางมหิดลได้พัฒนามาเป็นระยะเวลา 10 ปีเฉพาะราคาในส่วนของฮาร์ดแวร์หลักแสน สาเหตุที่ราคาสูงไม่ใช่ตัวอุปกรณ์แต่เป็นค่าออกแบบ ขณะที่ราคาค่าพัฒนาซอฟต์แวร์ยังไม่ได้ประเมินออกมาเป็นตัวเลข” นักวิจัยกล่าว