Smart School ไอเดียเด็กประถมสาธิตจุฬาฯ
ไอเดียนักเรียน ป.3 จากเวทีการแข่งขันนวัตกรรมนานาชาติ WICO ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ผ่านบัตรนักเรียนติดชิพ แก้ปัญหาต่อคิวแตะบัตร ผู้ปกครองติดตามลูกหลานขณะทำกิจกรรมระหว่างวันได้ คว้ารางวัลเหรียญทองนวัตกรรมนานาชาติ WICO
แนวคิดโรงเรียนแบบ Smart School มีการพูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กำลังพัฒนาแนวคิดนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน 4 ด้าน ด้วยนวัตกรรม The IoT Smart School ไอเดียจากนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ประกอบด้วย ด.ช.วรัญญู กิตติถาวรกุล ด.ญ. นิชดา จักรไพวงศ์ และ ด.ญ. วินิทรา สถิตย์วิริยะกุล ผ่านการสนับสนุนจาก ศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จนสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองในการประกวดแข่งขันนวัตกรรมนานาชาติ ประจำปี 2561 (WICO) ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ มาได้อย่างภาคภูมิใจ
อาจารย์ จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรม โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม กล่าวถึงแนวคิดโรงเรียน Smart School นี้ว่า ปัญหาหลัก 4 อย่าง ที่นักเรียนพบเจอทุกวันนี้ ได้แก่ 1.การต่อคิวเข้าออกหน้าโรงเรียนเพื่อแตะบัตรเข้าออกโรงเรียนในทุกๆ เช้าจะแออัดและมีแถวที่ยาวมาก หากนักเรียนมาใกล้เวลาเข้าโรงเรียนก็จะเสียเวลาตรงจุดนี้หลายนาที 2.ระหว่างวัน พ่อแม่ผู้ปกครองมักอยากจะทราบว่าเด็กๆ เข้าเรียนหรือยัง หรือทำกิจกรรมใด อยู่บริเวณใดภายในโรงเรียน 3.นักเรียนต้องแบกกระเป๋าหนังสือหนักๆ กลับบ้านและทำหนังสือหายเป็นประจำ 4.ขณะเลิกเรียน ผู้ปกครองไม่ทราบชัดเจนว่านักเรียนมารอ หน้าประตูหรือยัง ทำให้เสียเวลาในการขับรถมาจอดรอ ส่งผลให้การจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน
"เพื่อช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงหรือหมดไป จึงได้มีการระดมสมองเพื่อคิดค้นและพัฒนาต้นแบบระบบ The IoT Smart School ขึ้นมา ด้วยแนวคิด Intelligence of Things (IoT) และเพื่อให้เป็นโรงเรียน Smart School ต้นแบบ พร้อมทั้งส่งผลงานจากไอเดียของน้องๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ทั้ง 3 คนที่คิดขึ้นนี้ เข้าประกวดในโครงการแข่งขันนวัตกรรมนานาชาติ ประจำปี 2561 (WICO) ณ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ จนเป็นหนึ่งในผลงานที่คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง จากจำนวน 21 ประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน"
"Smart School เราควรจะเริ่มจาก นำ Smart เล็กๆ หลายๆ อย่างมารวมกัน เทคโนโยลี IoT ชิ้นนี้สามารถทำงานได้จริง เหลือเพียงแค่การจัดทำระบบสนับสนุนเข้ามา ทั้งนี้โรงเรียนเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนมีศักยภาพ มีจินตนาการ เพียงแต่ไม่มีเวที หน้าที่เราคือหาเวทีให้ ส่งเสริมให้งานที่คิดค้นขึ้นมาเป็นจริงให้ได้"
ทางด้าน นายรุ่งโรจน์ กิตติถาวรกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาทีม The IoT Smart School ได้อธิบายถึงเทคโนโลยีที่นำมาใช้ว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้เรียกว่า RFID (Radio Frequency Identification) คือการแยกแยะระบุสิ่งต่างๆ โดยใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชิ้นได้แก่ RFID Tag และ RFID Reader หลักการทำงานก็คือ ฝัง RFID Tag ไว้กับบัตร Smart Card นักเรียนทุกคนซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว พร้อมๆ กับติด RFID Reader ไว้ตามตำแหน่งต่างๆ ที่ต้องการใช้งาน ระบบ Smart Access แค่เดินผ่านเครื่องก็จะรู้ นักเรียนจะสามารถเดินเข้าโรงเรียนได้ทันที โดยไม่ต้องค้นหาบัตรมาแตะกับเครื่องอ่าน ลดปัญหาแถวที่ยาวหน้าโรงเรียนและการค้นหาบัตรในกระเป๋านักเรียน , ระบบ Smart Tracking หากผู้ปกครองต้องการทราบว่านักเรียนอยู่บริเวณใดก็สามารถทราบพิกัดได้ทันที ป้องกันปัญหาอาชญกรรมหรืออันตรายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น , ระบบ Smart Lockerทุกวันนี้กระเป๋าของเด็กๆ หนักหลายกิโลกรัมมาก ตู้สำหรับเก็บสมุดหนังสือ จะช่วยให้กระเป๋าของเด็กๆ เบาขึ้น และผู้ปกครองรู้ว่าหนังสือเล่มใดอยู่ที่ล๊อกเกอร์บ้าง และระบบ Smart Pickup ที่จะช่วยให้ผู้ปกครองรู้ว่าเด็กๆ มารออยู่หน้าประตูด้านไหนของโรงเรียน ลดการจราจารติดขัดหน้าโรงเรียนเพราะต้องมาจอดรถรับ โดยผู้ปกครองสามารถดูระบบดังกล่าวผ่านแอพลิเคชั่น
ทั้งนี้ เป็นการนำปัญหาทั้งหมดมารวมเป็นชิ้นเดียว โดยการทำให้บัตรนักเรียนเป็นมากกว่าบัตรนักเรียน ที่จากเดิมใช้เพียงแค่แตะบัตรเข้า-ออกโรงเรียน ทำให้ระบบบัตรที่มีอยู่แล้วทำงานได้เต็มศักยภาพ ประหยัดเวลา และถือเป็นมิติใหม่ของการบริหารจัดการโรงเรียนแบบ Smart School อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม The IoT Smart School จะเป็นจริงได้ ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการพัฒนาก่อนการนำไปใช้งานและงบประมาณสนับสนุนต่างๆ ต่อไป