เกล็ดเลือดจากสเต็มเซลล์ผิวหนัง จุดความหวังผู้ป่วยโรคเลือด/ไข้เลือดออก
ทีมนักวิจัยศิริราชฯ ประสบความสำเร็จ 2 โครงการวิจัยด้านเกล็ดเลือด “กระตุ้นเพิ่มอัตราการผลิต 30%” และ “เปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นเกล็ดเลือด” รับทุนวิจัยลอรีอัลสตรีนักวิทย์ 250,000 บาท
แพทย์ศิริราชประสบความสำเร็จ 2 โครงการวิจัยด้านเกล็ดเลือด “กระตุ้นเพิ่มอัตราการผลิต 30% จากเซลล์ต้นกำเนิด” และ “เปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นเกล็ดเลือด” ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2561 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จำนวน 2.50 แสนบาท องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่องเนื่องจากไขกระดูกสร้างได้น้อย เช่น ผู้ที่อยู่ระหว่างการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ส่วนเกล็ดเลือดจะเป็นส่วนที่สร้างได้ช้า ฉะนั้น ระหว่างรอร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้เองก็ต้องรับเกล็ดเลือดบริจาคทดแทนไปก่อน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สูญเสียเกล็ดเลือดจำนวนมากจากการเสียเลือดจากการผ่าตัดและอุบัติเหตุ ผู้ป่วยไข้เลือดออก
เกล็ดเลือดคือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผล ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด ในปัจจุบันเกล็ดเลือดเพื่อการรักษามาจากการบริจาค ซึ่งมีขั้นตอนและใช้เวลานานกว่าการบริจาคเลือดทั่วไปประมาณ 2 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้บริจาคน้อยและเสี่ยงขาดแคลนในช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ จากสภาพปัญหาข้างต้นจึงเป็นโจทย์ให้คิดหาวิธีเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิด
ดร.จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ อาจารย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมงานใช้เวลาศึกษา 3 ปีกระทั่งพบ “กลไกการสื่อสารระหว่างเซลล์” แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเกล็ดเลือด แม้จะสามารถผลิตเกล็ดเลือดได้สำเร็จแต่ปริมาณยังน้อยเกินกว่าที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วย เนื่องจากได้รับตัวอย่างสเต็มเซลล์เพื่อการวิจัยในปริมาณน้อย และยิ่งนำมาผลิตเป็นเกล็ดเลือดในแล็บยิ่งได้ปริมาณน้อยลงไปอีก ทีมวิจัยจึงพยายามคิดหาวิธีกระตุ้นให้เซลล์เลือดผลิตเกล็ดเลือดให้ได้มากขึ้น จากการทำวิจัย 3 ปีจึงพบว่ามีสารตัวหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมการสื่อสารระหว่างเซลล์ เมื่อเติมสารนี้ในเซลล์เลือดจะช่วยกระตุ้นให้ปริมาณเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น 30%
นอกจากการวิจัยเพิ่มปริมาณเกล็ดเลือดแล้ว ทีมวิจัยยังศึกษาวิธีเปลี่ยนสเต็มเซลล์ผิวหนังให้เป็นเซลล์เลือดเพื่อนำไปผลิตเกล็ดเลือด โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์จากผิวหนังมาเลี้ยงแล้วบังคับด้วยน้ำยาเคมีหลายตัวให้เปลี่ยนเป็นเซลล์เลือด จะแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้บริจาคได้เนื่องจากเซลล์จากผิวหนังมีอยู่มาก เพียงแต่ขั้นตอนการทำเซลล์ผิวหนังให้เป็นเซลล์เลือดจะมีความซับซ้อน จึงเป็นโจทย์ให้ทีมวิจัยขบคิดเพื่อพัฒนาวิธีการให้ง่าย
“ขณะนี้เราประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนสเต็มเซลล์ผิวหนังให้เป็นเซลล์เลือดได้แล้ว และอยู่ระหว่างการเลี้ยงเซลล์เลือดให้กลายเป็นเซลล์เกล็ดเลือด เมื่อนำมารวมกับงานวิจัยแรกที่สามารถกระตุ้นเพิ่มเกล็ดเลือดได้ 30% ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยโรคเลือดได้อย่างมาก ทั้งนี้ ทีมวิจัยในโครงการนี้มี 4 คน จุดมุ่งหมายหลักคือ ขยายการเลี้ยงเซลล์สู่ระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้เกล็ดเลือดปริมาณมากๆ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีและมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ เพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง”
ทั้งนี้ เกล็ดเลือด 1 ยูนิตสำหรับให้ผู้ป่วย 1 ครั้งได้จากผู้บริจาคเลือด 4-6 คน แต่กรณีที่ต้องให้เกล็ดเลือดมากกว่า 1 ครั้งก็ต้องใช้ผู้บริจาคจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ เกล็ดเลือดบริจาคจะมีโปรตีนของผู้บริจาคเจือปนมาด้วย ร่างกายผู้ป่วยก็จะสร้างภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถรับเกล็ดเลือดจากผู้บริจาคคนเดิมก็ต้องหาผู้บริจาคใหม่มาทดแทน แต่ในส่วนของโครงการวิจัยจึงศึกษาการใช้สเต็มเซลล์จากผู้บริจาคเพียง 1 คน แล้วนำมาเพิ่มเกล็ดเลือด ก็จะเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ เกล็ดเลือดจากห้องปฏิบัติการไม่มีโปรตีนเจือปน
ความยากในการวิจัยมีหลายเรื่องคือ การศึกษาหากลไกการสื่อสารระหว่างเซลล์ที่เราทำมาตั้งแต่ต้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่า กระบวนการนี้มีหน้าที่ในเซลล์เลือดหรือไม่ ถัดมาก็เป็นการเลี้ยงสเต็มเซลล์เปลี่ยนเป็นเซลล์เลือดในห้องทดลองก็ยังเป็นเรื่องยาก แถมสุดท้ายก็ยังได้เกล็ดเลือดในอัตราต่ำ
องค์ความรู้นี้จะตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยที่ต้องได้รับเกล็ดเลือดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อผู้ป่วยได้รับเกล็ดเลือดเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น ลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดภาระค่าใช้จ่าย และยังช่วยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน เกิดการจ้างงาน ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติได้ ทั้งนี้ ในสหรัฐมีบริษัทที่ผลิตเกล็ดเลือดได้ผนวกรวมเทคโนโลยีกับสถาบันวิจัยในญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคนิคเปลี่ยนสเต็มเซลล์ผิวหนังให้เซลล์เลือด คาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการแพทย์