กล้องเทระเฮิรตซ์ สแกนตรวจจับผู้ต้องสงสัย
ดร.อดิสรจากเนคเทค แชร์ข้อมูลเทคโนโลยีสแกนวัตถุต้องสงสัยแบบพกพา สำหรับรักษาความปลอดภัยในสถานที่สาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เป็นการใช้คลื่นแสงในย่านเทระเฮิรตซ์สแกนตรวจหาวัตถุต้องสงสัยจากตัวผู้โดยสารได้ในระยะไกล
การก่อการร้ายโดยระเบิดฆ่าตัวตายตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วโลก เป็นข่าวที่เศร้าใจเป็นอย่างมากที่ผู้บริสุทธิ์จะต้องมาเสียชีวิตในการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งทั่วโลก การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการก่อการร้ายลักษณะนี้ จึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะลดการสูญเสียได้เป็นอย่างดี สถานที่ที่เป็นเป้าหมายในการก่อการร้ายมักจะเป็นสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่นเพราะการเฝ้าระวังสถานที่เหล่านี้มักจะทำได้ยาก เช่น ในสนามบิน หรือเวทีแสดงคอนเสริต รวมทั้งสถานีรถไฟ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น การตรวจตราร่างกายของผู้โดยสารในสนามบินต้องใช้เวลา มีการนำเครื่องตรวจวัตถุโลหะและระเบิดมาใช้และวิเคราะห์ ทำให้ใช้เวลานานในการทำเช่นนั้น
หลายๆท่านคงเคยมีประสบการณ์การเข้าแถวตรวจที่สนามบินมาบ้างแล้วจะเห็นได้ว่า ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงต้องเผื่อเวลาล่วงหน้าในการเดินทาง แต่ถ้าใช้วิธีนี้กับสถานีรถไฟใต้ดินที่เราทุกคนต้องเร่งรีบไปทำงาน คงต้องเสียเวลานานมากกว่าจะได้ขึ้นรถไฟใต้ดิน
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์การการขนส่งมวลชนของมหานครลอสแองเจลิส (Los Angeles County Metropolitan Transportation Authority) และองค์การด้านความปลอดภัยในการขนส่งของสหรัฐอเมริกา ( Transportation Security Administration) ได้เริ่มใช้เครื่องสแกนวัตถุต้องสงสัยแบบพกพา (portable terahertz millimeter-wave screening devices) ถึงแม้เครื่องมือนี้มีมูลค่าสูงกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,500,000 บาทก็ตาม
เทคโนโลยีนี้จะสามารถตรวจตราผู้โดยสารจากระยะไกล โดยกล้องจะส่องไปที่ผู้โดยสารที่เดินหรือวิ่งผ่านกล้องในระยะ 30 ฟุต สามารถสแกนผู้โดยสารได้ถึง 2,000 คนต่อชั่วโมง โดยไม่ต้องให้ผู้โดยสารหยุดตรวจเหมือนในสนามบิน ใช้เทคโนโลยีคลื่นแสงในย่านเทระเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่ในช่วง 1012 เฮิรตซ์ เขียนเป็นสัญลักษณ์ได้เป็น THz (เรียกว่า เทระเฮิรตซ์ เนื่องจาก เทระ (Tera) มีค่าเป็น 1012) โดยมีความถี่ประมาณ 0.3 -3.0 THz ซึ่งตรงกับความยาวคลื่นประมาณ 1.0–0.1 มิลลิเมตร หรือเรียกตามความยาวคลื่นได้อีกอย่าง Submillimeter wave
คลื่นเทระเฮิรตซ์เป็นช่วงคลื่นที่อยู่ตรงกลางระหว่างคลื่นไมโครเวฟและอินฟราเรด โดยช่วงความถี่นี้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) ถือว่าเป็นความถี่ที่สูงมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้โดยสารกำลังลงมาจากชั้นบนด้วยบันไดเลื่อนผ่านกล้องที่ตั้งอยู่ เจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจหาของที่ซุกซ้อนมากับผู้โดยสารได้ โดยกล้องจะแสดงให้เห็นภาพความร้อน โดยบริเวณที่ร้อนกว่าจะแสดงให้เห็นความสว่าง ส่วนบริเวณที่เย็นกว่าจะเป็นส่วนที่มืดกว่า แต่ไม่ต้องกลัวเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือกลัวว่ากล้องจะสามารถส่องทะลุเสื้อผ้าเข้าไปได้ เพราะกล้องนี้จะไม่สามารถเห็นรายละเอียดของร่างกายมนุษย์ได้ ให้เห็นแต่พลังงานความร้อนและความเย็นที่แตกต่างกันเท่านั้น โดยภาพที่แสดงบนจอภาพจะเป็นจุดสีที่แสดงระดับความร้อนเท่านั้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอยู่หน้าเครื่อง ถ้ามีผู้ที่มีลักษณะต้องสงสัย เจ้าหน้าที่จะเชิญให้ผู้โดยสารคนนั้นหยุด และให้ตำรวจและสุนัขดมกลิ่นมาตรวจสอบอย่างละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้ง นับว่าเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีกับความเชี่ยวชาญของตำรวจอย่างชาญฉลาด
การเฝ้าระวังสถานที่สาธารณะจากการก่อการร้ายนับว่าเป็นสิ่งสำคัญเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์จากการตกเป็นเหยื่อจากการก่ออาชญากรรม นักวิจัยบ้านเราน่าจะลองพัฒนาระบบแบบนี้ขึ้นเองบ้างครับ น่าจะทำให้ประเทศไทยใกล้ 4.0 มากขึ้น
*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ