หุ่นยนต์ดินสอจับกลุ่มอัลไซเมอร์
เอเชีย โรโบติกส์ ซุ่มพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 70 โครงการ ติดตั้งเทคโนโลยีเอไอ-เซ็นเซอร์ช่วยตรวจวิเคราะห์โรคเฉพาะทาง ทั้งหลอดเลือดสมอง เบาหวานและดมกลิ่นลมหายใจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ล่าสุดเปิดตัวดินสอมินิรุ่นใหม่เน้นดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์
เอเชีย โรโบติกส์ ซุ่มพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ 70 โครงการ ติดตั้งเทคโนโลยีเอไอ-เซ็นเซอร์ช่วยตรวจวิเคราะห์โรคเฉพาะทาง ทั้งหลอดเลือดสมอง เบาหวานและดมกลิ่นลมหายใจตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ล่าสุดเปิดตัวดินสอมินิรุ่นใหม่เน้นดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เจาะกลุ่มผู้ใช้ระดับครัวเรือน
นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ เปิดเผยว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมาในการพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ ได้ปรับแนวทางการพัฒนามายังเซกเมนต์สุขภาพมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซ็นเซอร์ เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการทำงาน โดยเฉพาะในเซกเมนต์ทางการแพทย์ 70 โครงการที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์หลายแห่ง
เพื่อทำหน้าที่ช่วยตรวจ วิเคราะห์ ดูแลโรคเฉพาะทางมากขึ้น อาทิ มะเร็งปอด โดยใช้จมูกอิเล็กทรอกนิกส์ตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจากกลิ่นลมหายใจของผู้ป่วย ส่วนโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานจะตรวจติดตามผ่านทางหุ่นยนต์ดินสอ มินิ ทั้งนี้ ผู้ที่มีหุ่นยนต์ดินสอมินิอยู่แล้ว สามารถติดต่อเพื่ออัพเวอร์ชั่นใหม่ได้เหมือนการอัพเดทแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน
“เหตุผลส่วนหนึ่งที่หันมาโฟกัสด้านการแพทย์ เพราะ ยังไม่มีใครทำมาก่อน หากทำก่อนจะกลายเป็นผู้นำในเซกเมนต์นี้ การที่คู่แข่งจะเข้ามาลอกเลียนแบบเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้องค์ความรู้ รวมทั้งความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ขณะที่ราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ผู้ซื้อให้ความสำคัญ”
ล่าสุดได้เปิดตัว “ดินสอ มินิ รุ่น 2” หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ทำงานร่วมกับเอไอ สนับสนุน 3 ฟังก์ชั่นหลักคือ รับคำสั่งเสียง, จดจำใบหน้าติดตามระยะ 2-8 เมตร และสังเกตพฤติกรรมผิดปกติแล้วแจ้งเตือนผู้ดูแลทันที โดยได้ทดลองประสิทธิภาพการใช้ในโรงพยาบาลกว่า 10 แห่ง ทำหน้าที่ช่วยพยาบาลดูแลผู้ป่วยรวมทั้งผู้สูงอายุตามบ้านจำนวนกว่า 100 ตัว ตั้งเป้าปีหน้าจะจำหน่ายได้ 5,000 ตัวในราคา 85,000 บาท ตลาดเป้าหมายคือ กลุ่มผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีกำลังซื้อ 100,000 คนจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วประเทศ 500,000 คน
“หมดยุคที่เราจะเป็นผู้ตามอีกต่อไป เราต้องเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและดึงดาต้าเข้ามาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ยิ่งในยุคที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ภาษีสนับสนุน ต้องรีบทำ เพื่อก้าวเป็นผู้นำในระยะยาว อีกทั้งไทยมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือทางการแพทย์อยู่แล้ว เราต้องอาศัยความได้เปรียบตรงนี้มาเป็นจุดขาย รวมถึงการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ ออกมาช่วยอำนวยความสะดวก จะสามารถขยายตลาดไปได้ในหลายประเทศที่เริ่มมีประชากรสูงวัยมากขึ้น”
นายเฉลิมพล กล่าวอีกว่า มีแผนที่จะเพิ่มตลาดประเทศส่งออกมากขึ้น เช่น เกาหลี ฮ่องกง จำหน่ายผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโด ที่พักอาศัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้พักอาศัย จากเดิมที่ทำตลาดในญี่ปุ่นผ่านเนอสซิ่งโฮม
นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับบริการในร้านค้าปลีก อาทิ โฮมโปร เพื่อเป็นผู้ช่วยพนักงาน ณ จุดขาย จะเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ สามารถสื่อสารกับลูกค้า 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้บริษัทมาจากหุ่นยนต์ดินสอมินิ ที่โฟกัสเรื่องสุขภาพ 70% ที่เหลือ 30% มาจากหุ่นยนต์ที่ใช้เพื่อบริการและบันเทิง คาดว่าปีนี้ยอดขายประมาณ 80 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้ายอดขาย 500 ล้านบาทจากการนำเสนอเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ถือเป็นปีแรกที่จะถึงจุดคุ้มทุน หลังจากลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท