สกุลฎ์ซี’รุกระบบราง เพิ่มทางเลือกอุตฯชิ้นส่วน
กลุ่มบริษัทโชคนำชัย ปรับตัวรับเทรนด์การขนส่งทางราง จับมือภาครัฐร่วมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
กลุ่มบริษัทโชคนำชัย (ซีเอ็นซีกรุ๊ป) ผู้ผลิตแม่พิมพ์รายใหญ่ปรับตัวรับเทรนด์การขนส่งทางราง จับมือภาครัฐร่วมรับถ่ายทอดเทคโนโลยี รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
นำชัย สกุลฎ์โชคนำชัย ประธานบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัดในเครือกลุ่มบริษัทโชคนำชัย (CNC Group) กล่าวว่า จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดไปพัฒนาชิ้นส่วนรถไฟออกมาตอบโจทย์ คาดว่าในช่วงแรกจะลงทุน 20 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปีในการพัฒนาต้นแบบชิ้นงานเพื่อการทดสอบ
“ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อยู่แล้วแต่ทำให้กับแบรนด์ต่างประเทศ ณ วันนี้น่าจะถึงเวลาที่จะพัฒนาชิ้นส่วนภายใต้แบรนด์ของคนไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล สามารถส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ต้องรอให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมรางในไทย จนสามารถกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรางในอนาคต”
พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันวิจัยได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมราง ในรูปแบบการต่อยอดเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการก้าวสู่อุตสาหกรรมรางให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
หลังจากที่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ในภาวะถดถอย จึงร่วมกับสมาคมรับช่วงการผลิตไทย ที่มีกลุ่มผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสมาชิก เข้ามาร่วมโครงการไอแทปเพื่อนำงานวิจัยที่มีอยู่ไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมราง ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการวิเคราะห์ทดสอบชิ้นส่วนต่างๆ ตามมาตรฐานทางการรถไฟในระดับสากล จะทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมรางทั้งในประเทศและต่างประเทศได้
“การพัฒนาชิ้นส่วนแต่ละอย่างต้องใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน 1-3 ปีขึ้นอยู่กับความยากง่ายและความพร้อมของอุตสาหกรรมด้วย หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัสดุศาสตร์อาจใช้เวลาไม่นานแต่ถ้าเป็นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์อาจใช้เวลานาน และการวิเคราะห์ทดสอบอาจจะยุ่งยากมากขึ้น เพราะจะต้องอ้างอิงกับโค้ดสากลในต่างประเทศ"
ยกตัวอย่าง ประเทศจีนวิเคราะห์ทดสอบกระทั่งมีโค้ดเป็นของตนเอง ส่วนประเทศไทยต้องใช้เวลาเรียนรู้การวิเคราะห์ทดสอบจากจีน ยุโรป ญี่ปุ่น จึงจะมีโค้ดเป็นของตนเองได้ในอนาคต จึงจะสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิเคราห์ทดสอบเข้าสู่อุตสาหกรรมระบบรางเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อให้ทันต่อความต้องการใช้และต้นทุนค่าทดสอบที่ลดลงจากเดิมที่ต้องส่งไปทดสอบในต่างประเทศ
เรียนรู้จากรถไฟฟ้าไทย-จีน
การทดสอบจะนำร่องในผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม ใน 26 รายการ ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยครั้ง โดยให้ทางศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ในสังกัด สวทช. ทำการทดสอบเกี่ยวกับ 1.ทางและรางรถไฟ ประกอบด้วย พื้นทางและหินโรยทาง, หมอน- แผ่นรองราง, เครื่องยึดเหนี่ยวราง , ประแจและทางแยก, รางและหัวต่อราง, ล้อและชุดลูกปืนรับน้ำหนัก, ระบบเบรก
2. ชิ้นส่วนรถไฟ ประกอบด้วย การเคลือบผิว สายพานยาง แปรงถ่าน ที่นั่งและราวจับ กรองอากาศและการส่องสว่าง 3.อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ระบบจำหน่ายตั๋ว 4.สภาพแวดล้อม การกัดกร่อน การรบกวนด้านไฟฟ้าสถิต การรบกวนของแม่เหล็กไฟฟ้าต่อพืชพันธุ์ เสียงและการบรรเทาผลกระทบ การสั่นสะเทือน มลพิษอากาศและฝุ่น
สวทช.จะทดสอบเรื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอกนิกส์ ซึ่งกำลังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศจีนตามเงื่อนไขโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ส่วนทางกลจะเป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นผู้ทดสอบ
“ในอนาคต ไทยสามารถจะเป็นศูนย์กลางชิ้นส่วนอุตสาหกรรมระบบราง เช่นเดียวกับในอดีตที่เคยเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าในแต่ละประเทศได้หลังจากที่สามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการถดถอย ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ได้” ณรงค์ กล่าว