สกว.โชว์สุดยอดวิจัยเด่น ยาจากล้วยไม้-สารตั้งต้นจากก๊าซ

สกว.โชว์สุดยอดวิจัยเด่น  ยาจากล้วยไม้-สารตั้งต้นจากก๊าซ

ยาต้านเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดจากกล้วยไม้-ฟองน้ำทะเลสีน้ำเงิน และ สารตั้งต้นมูลค่าสูงจากคาร์บอนไดออกไซด์ เป็น 2 ใน 10 ผลงานวิจัยรางวัลจากสกว.และสกอ.

ยาต้านเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดจากกล้วยไม้-ฟองน้ำทะเลสีน้ำเงิน และ สารตั้งต้นมูลค่าสูงจากคาร์บอนไดออกไซด์ เป็น 2 ใน 10 ผลงานวิจัยรางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และ 2019 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

รางวัลดังกล่าวเพื่อเชิดชูเกียรติแก่วุฒิเมธีวิจัย สกว. ตลอดจนนักวิจัยรุ่นกลางและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีผลงานวิจัยจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ดีเยี่ยม ทั้งคุณภาพของงานวิจัย ผลกระทบต่อวงวิชาการ และสังคม เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการมอบรางวัลได้กล่าวปาฐกถานำตอนหนึ่งว่า อยากจะเชิญชวนให้นักวิจัยร่วมให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ได้เกิดแรงบันดาลใจในการเข้าสู่เครือข่ายวิจัยให้มากขึ้น เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใน 2 ด้าน คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีงบประมาณวิจัยใกล้เคียงกับร้อยละ 1 ขึ้นไปของจีดีพี และจะทำอย่างไรให้ขยับเป็นร้อยละ 1.5 ภายใต้ความท้าทายว่างานวิจัยต้องมีผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการต่อยอด บรรลุแผนแม่บทใน 5-10 ปีข้างหน้า

โจทย์สำคัญคือจากนี้ไปต้องทำงานวิจัยหลักให้เกิดโอกาสและผลกระทบโดยบูรณาการความรู้ความสามารถ ทำงานเป็นทีม โดยต้องวางแผนวิจัยให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตีบทให้แตกและมองให้ออกว่าจะส่งธนูไปสู่เป้าหมายอย่างไรให้คนของเรามีสมรรถนะสูงและจัดการกับปัญหาโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี

เปลี่ยนก๊าซโลกร้อนให้เป็นเงิน

ผลงานการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย รศ.ธงไทย วิฑูรย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกิดจากการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความว่องไวและมีเสถียรภาพในการแปรรูปก๊าซดังกล่าวให้เป็นสารเคมีที่มีมูลค่าสูง

นักวิจัยดำเนินการร่วมกับสถาบันนวัตกรรม ปตท. ในการแปรรูปก๊าซดังกล่าวให้เป็นเอทิลีนเพื่อผลิตฟันปลอม เสื้อเกราะกันกระสุนแบบอ่อน ทั้งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเส้นลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ ตลอดจนแปรรูปให้เป็นโพรพิลีนเพื่อทำกระดูกเทียมและชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น

ขณะนี้ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ก่อนที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศ นอกจากนี้ยังสามารถแปรรูปให้เป็นเมทานอนเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล ทินเนอร์ รถไฟฟ้า และแปรรูปให้เป็นดีเอ็มอีเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกใช้แทนก๊าซแอลพีจี

รศ.ธงไทย กล่าวว่า งานวิจัยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เข้าสู่กระบวนการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซเหลือทิ้ง ก่อนส่งเข้ากระบวนการกักเก็บให้มีความเข้มข้นสูงเพื่อนำไปใช้เป็น “สารตั้งต้น” ในการผลิตสารเคมีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและพลังงานทดแทนในอนาคต จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากงานวิจัย

มิติใหม่รักษามะเร็ง

รศ.ปิติ จันทร์วรโชติ ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานการควบคุมเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดเพื่อพัฒนายาจากกล้วยไม้-ฟองน้ำทะเลสีน้ำเงินซึ่งพบในอ่าวไทย เป็นการศึกษากลไกและปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมจำนวนและคุณสมบัติต่างๆ ของเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด

องค์ความรู้จะนำไปสู่การค้นพบกลไกและเป้าหมายของยารักษาโรคมะเร็งใหม่ รวมทั้งการพัฒนายาจากสารสำคัญที่แยกได้จากสมุนไพรไทย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เมื่อยับยั้งกลไกเหล่านั้นได้ก็จะสามารถทำลายเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดได้

จากโครงการวิจัยนี้นำมาซึ่งการค้นพบสารสมุนไพรที่สามารถออกฤทธิ์ตามเป้าหมาย เช่น Gigantol สารจากกล้วยไม้พันธุ์เอื้องเงิน, Chrysotoxine สารจากกล้วยไม้พันธุ์เอื้องช้างน้าว, Vanillin สารจากกล้วยไม้พันธุ์วานิลลา รวมทั้ง Renieramycin M สารจากฟองน้ำทะเลสีน้ำเงิน

“การค้นพบดังกล่าวจะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ในการควบคุมความรุนแรงของโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล ทำให้ทราบถึงปัจจัยภายในร่างกายที่กระตุ้นให้อาการมีความรุนแรง รวมถึงกลไกสำคัญที่ควบคุมเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด ที่จะนำมาพัฒนายารักษาจากสมุนไพรไทยหลายชนิดในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาและสาธารณสุขไทยในการพึ่งพาตนเองจากพืชพื้นถิ่นไทย ล่าสุดได้รับการติดต่อจากบริษัทยาในญี่ปุ่นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์”