รอจับตา โอโซน(ตัวร้าย) ตามหลังฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มาติดๆ  

รอจับตา โอโซน(ตัวร้าย) ตามหลังฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มาติดๆ  

วิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มเจือจาง ผลจากมาตรการต่างๆ แต่อย่าเพิ่งดีใจ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ จาก สวทช.ถ่ายทอดผลศึกษาจากจีน ระบุพบการเพิ่มขึ้นของระดับก๊าซโอโซน(ตัวร้าย) หลังจากฝุ่นจิ๋วเจือจาง

หลังจากมีการสั่งหยุดเรียนผนวกกับช่วงตรุษจีนพอดี หลายบริษัทและโรงงานหยุดงานระยะยาว การจราจรขนส่งก็ลดความคับคั่งลงและการรณรงค์ลดการสร้างมลพิษจากการเผาทางการเกษตร การสร้างฝนเทียม ร่วมกับอีกหลากหลายมาตรการ ไม่รวมถึงการใช้โดรนบินขึ้นไปพ่นละอองน้ำ ปรากฏว่า ระดับฝุ่นพิษที่วัดได้ในเขตกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะลดลง อากาศกลับมามีคุณภาพดีขึ้นอีกครั้ง แต่อย่าเพิ่งวางใจเพราะเป็นการแก้ไขในระยะสั้นเท่านั้น มาตรการระยะยาวยังคงต้องถูกนำมาใช้อย่างเร่งรีบ เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานจากฟอสซิล การใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น และการเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น


ถ้าเราศึกษาจากประสบการณ์ของประเทศจีน จากงานวิจัยพบว่า เมื่อ PM 2.5 ลดลงก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ ระดับก๊าซโอโซน(ตัวร้าย)จะเพิ่มขึ้น โอโซนที่เราพูดถึงนี้ไม่ใช่โอโซนในชั้นบรรยากาศที่เป็นโอโซนดี ช่วยปกป้องเราจากแสงยูสี แต่เป็นโอโซนตัวร้ายอยู่ที่ผิวโลกทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบหายใจของมนุษย์


โอโซนนี้เองเกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์กับสารเคมีระเหยง่ายจำพวก Volatile Organic Compound หรือ VOC ที่ปล่อยมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์กับแสงแดด ปัจจุบันประเทศจีนต้องเร่งหาทางลดก๊าซโอโซนกันต่อไปอีก ดังนั้น เรายังคงต้องทำความเข้าใจปัญหาและวงจรของมันทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ เรารู้แน่ว่า PM 2.5 มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลที่มีต่อชีวิตเราโดยตรง


ล่าสุดผลจากการศึกษาวิจัยโดยทีมนักวิจัยของ University of Texas at Austin ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Environmental Science &Technology Letters ของสมาคมเคมีแห่งสหรัฐ เปิดเผยผลจากการศึกษา 185 ประเทศทั่วโลก PM 2.5 มีผลทำให้อายุขัยของมนุษย์สั้นลงประมาณ 1 ปี รายงานนี้ระบุว่า กรณีประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีค่า PM 2.5 เฉลี่ยเกิน 50-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อายุขัยของเราคนไทยจะสั้นลงประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าค่า PM 2.5 เฉลี่ยสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงถึง 2 ปี เช่น บางเมืองในอินเดียและแอฟริกา


ดังนั้น เราต้องรีบหาทางกำจัดเจ้าฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยด่วน ศาสตร์หนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้คือ Geoengineering โดยเฉพาะสาขา Tropospheric Geoengineering ซึ่งเป็นศาสตร์ด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักการทางวิศวกรรมเพื่อจัดการกับภูมิอากาศในชั้นบรรยากาศโลก


ล่าสุดมีแนวคิดที่ประเทศจีนจะใช้ละอองน้ำฉีดลงมาจากตึกระฟ้าทั่วเมืองพร้อมกัน เพื่อให้ละอองน้ำจับกับฝุ่นละอองกลายเป็นหยดน้ำ เป็นเวลาประมาณ 30 นาทีทุกวันช่วงที่ประสบปัญหา หรือการใช้บอลลูนยักษ์ที่บรรจุก๊าซไฮโดรเจนให้ลอยอยู่เหนือตึกทั่วเมือง เพื่อให้แผ่นกรองที่มีรูพรุนจำนวนมากที่อยู่ติดกับบอลลูนได้ดูดซับหมอกควันที่มีสภาพเป็นกรด แล้วไปทำให้กลายเป็นกลางด้วยด่างที่บรรจุอยู่ภายในบอลลูน บางแนวคิดก็ออกแนวเพ้อฝันเหมือนนวนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างแนวคิดเรื่องบอลลูนกรองอากาศนี้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องหาทางรับมือ ซึ่งไม่ได้มาแค่สัปดาห์หรือสองสัปดาห์แล้วจบ แต่เป็นสงครามที่ยืดเยื้อที่พวกเราทุกคนต้องรับมือกับมัน

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช.,เมธีวิจัยอาวุโส สกว.