แคเรียร์วีซ่า,อรินแคร์ โมเดลสตาร์ทอัพสายรัฐ

แคเรียร์วีซ่า,อรินแคร์ โมเดลสตาร์ทอัพสายรัฐ

แคเรียร์วีซ่า โมบายแอพพลิเคชั่นแนะแนวอาชีพครบวงจรที่เหมาะสมกับบุคคล และ อรินแคร์ แพลตฟอร์มบริหารคลังยาในร้านขายยา การเก็บข้อมูลลูกค้าและการจ่ายยา คว้าสุดยอดทีมสตาร์ทอัพด้านการศึกษาและสาธารณสุข

แคเรียร์วีซ่า (Career Visa) โมบายแอพพลิเคชั่นแนะแนวอาชีพครบวงจรที่เหมาะสมกับบุคคล และ อรินแคร์ (Arincare) แพลตฟอร์มบริหารคลังยาในร้านขายยา การเก็บข้อมูลลูกค้าและการจ่ายยา คว้าสุดยอดทีมสตาร์ทอัพด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข เงินรางวัล 2 แสนบาทต่อทีมในโครงการ “GovTech Mission-One Nation, One Mission ยกระดับประเทศไทย” โดยสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย

เวทีประชันไอเดียด้านเทคโนโลยีบริการสาธารณะ จัดขึ้นมาเพื่อเป็นเวทีเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสตาร์ทอัพด้านการศึกษาและสาธารณสุข ให้เข้าไปมีส่วนร่วมและทำงานกับภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ผู้เข้าแข่งขันจึงมั่นใจได้ว่าทุกโครงการจะได้รับคำปรึกษา การสนับสนุน และเตรียมความพร้อมจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

แพลตฟอร์มยกระดับร้านยา

ธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะ สถาบันฯ กล่าวว่า การบริหารจัดการภาครัฐจำเป็นต้องถูกยกระดับ จึงถึงเวลาที่จะต้องเปิดพื้นที่ในการระดมความคิดเห็น เจาะลึก หาไอเดีย และหาทางออกใหม่ๆจากคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ มาร่วมลงมือสร้างสรรค์แนวคิดและแผนงานที่ผสมผสานกับเทคโนโลยี เพื่อประยุกต์ใช้ในด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย งบประมาณและเวลาการทำงาน

ยกตัวอย่างโมบายแอพฯ ประเมินอาชีพ Career Visa ทางสถาบันฯ สนับสนุนให้ทดลองใช้กับนักศึกษาใน 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.เชียงใหม่ ม.พะเยาและม.นเรศวร พัฒนาจากการเรียนการสอนจริง พร้อมเข้าถึงผู้มีประสบการณ์ในอาชีพเฉพาะด้าน ถือเป็นการเรียนรู้แนวทางอาชีพที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบุคคลโดยเฉพาะ มีเป้าหมายที่จะช่วยแก้ปัญหานิสิตนักศึกษากว่า 6 ล้านคนต่อปี ที่สำเร็จการศึกษาให้สามารถรู้จักตัวตนของตนเองและเลือกงานได้อย่างเหมาะสม มีความสุขในการทำงาน

ขณะที่ทีมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสาธารณสุข รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ Arincare แพลตฟอร์มด้านเภสัชกรที่ใช้ดิจิทัลเข้ามาแทนที่ระบบแมนนวล ทั้งนี้ จากการสำรวจร้านขายยาในชุมชนพบมากกว่า 21,000 ร้านค้า รองรับผู้ใช้บริการกว่า 11 ล้านคน และยังมีการทำทุกอย่างแบบแมนนวล จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารคลังยา การเก็บข้อมูลคนไข้ การจ่ายยาในร้านขายยาฟรี เพื่อให้ร้านขายยาชุมชนสามารถทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ดิจิทัล

ปัจจุบันสามารถให้บริการกว่า 2,000 ร้านยา และจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้มากกว่า 30,000 คนในช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งสามารถทำงานร่วมกับการให้บริการโรงพยาบาลชุมชน หรือหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน ในการบริหารคลังยา และในอนาคตจะเชื่อมข้อมูลการใช้ยานอกโรงพยาบาลเหล่านี้เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาล ให้กลายเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน จะช่วยให้การดูแลสุขภาพของคนไทยดีขึ้นและลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน

ลดเวลา-งบฯด้วยเทคโนโลยี

ธีรยา ธีรนาคนาท ผู้ร่วมก่อตั้ง Career Visa กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เข้าไปทำงานในตลาดภาครัฐ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณให้สตาร์ทอัพทดสอบตลาด และใช้งานระบบกับหน่วยงานภาครัฐอย่างมหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังคงติดขัดในเรื่องงบประมาณที่จำกัด ทำให้การกระจายไม่ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมาย

หากภาครัฐให้การสนับสนุนเชื่อว่า จะทำให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าไปช่วยให้การทำงานของหน่วยงานภาครัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการปลดล็อกข้อจำกัดในการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐกับสตาร์ทอัพ เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีระเบียบของระบบราชการ รวมทั้งงบประมาณที่เข้ามาสนับสนุน

ในส่วนของสตาร์ทอัพเองต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจให้สามารถที่จะอยู่รอดได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่จะต้องพึ่งพาการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐไปตลอด จากประสบการณ์และข้อมูลพบว่า สตาร์ทอัพ ด้านภาครัฐ/การศึกษาต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-15 ปีกว่าจะอยู่ตัวและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ยั่งยืน ซึ่งแตกต่างจากสตาร์ทอัพด้านการเงินและการธนาคาร ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ขณะเดียวกันความยากในการเข้าถึงตลาดภาครัฐก็ถือเป็นข้อดีสำหรับสตาร์ทอัพ ที่จะบุกเบิกเป็นรายแรกๆ ซึ่งทำให้เกิดเป็นโอกาสและความได้เปรียบในตลาดกลุ่มนี้