วิจัยพลิกมะขามสู่‘บลูโอเชี่ยน’
เส้นขนมจีนกึ่งสำเร็จรูปเสริมแป้งจากเม็ดมะขาม ผลงานวิจัยนำร่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้ง เตรียมขยายสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหาร
เส้นขนมจีนกึ่งสำเร็จรูปเสริมแป้งจากเม็ดมะขาม ผลงานวิจัยนำร่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้ง เตรียมขยายสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหาร แบรนด์ “สารัช” ย้ำความเป็นผู้นำตลาดมะขามแปรรูปที่มีจุดขายและความต่างเหนือคู่แข่งที่นิยมก๊อบปี้ผลิตภัณฑ์
จากความสำเร็จของผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูป “สารัช” ที่ดำเนินธุรกิจมา 50 ปี มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ทั่วประเทศ สุภาลักษณ์ กมลธรไท กรรมการผู้บริหารบริษัท สารัชมาเก็ตติ้ง จำกัด มองว่า ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะขามต้นตำรับ จึงเป็นที่มาของการลงทุนวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบจากมะขามแบบครบวงจร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยนเรศวรและ มรฏ.พิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก มาอย่างต่อเนื่อง
วิจัยเพิ่มค่าของเหลือทิ้ง
เฉลี่ยแต่ละปีบริษัทจัดสรรงบวิจัย 2% จากยอดขาย คิดเป็นจำนวนเงินหลักล้านบาท และบางส่วนได้รับทุนจากหน่วยงานวิจัยและสถาบันการศึกษา จากการเข้าร่วมในโครงการต่างๆ ส่วนเหตุผลที่ลงทุนวิจัย สุภาลักษณ์ กล่าวว่า มีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาทำตลาดมะขามแปรรูปมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ ฉะนั้น การที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจำเป็นต้องมีจุดแข็ง จุดขาย มีเอกลักษณ์และความแตกต่าง
“การจะสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีนวัตกรรมออกมานำเสนอให้กับลูกค้า มะขามเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกมากขึ้นอยู่กับว่าเราทำตลาดไปในทิศทางไหน มีอยู่ 2 แนวทางคือ 1.ผลิตแล้วขายได้ 2.ผลิตแล้วทำให้แบรนด์แข็งแกร่งขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในการนำวัตถุดิบจากมะขามในทุกส่วนมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น”
ยกตัวอย่าง ในหมวดเครื่องสำอางจะพัฒนาเซรั่มจากเม็ดมะขามซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง หรือในหมวดอาหารจะพัฒนาเส้นผัดไทยและซอสผัดไทย โดยได้รับโจทย์จากลูกค้าในงานแสดงสินค้า ขณะเดียวกันในส่วนของการกระจายสินค้า ก็จะตั้งศูนย์กระจายสินค้ามาที่กรุงเทพฯ
บริษัทตั้งเป้าการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 20% กระทั่งเพิ่งมาสะดุดในปี 2561 จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่น่าลงทุน ตลาดบางส่วนจึงหายไป เช่น ตลาดต่างประเทศที่ลดลงจากเดิมส่งออก 20-30% แต่ปัจจุบันเหลือ 10% ส่วนในประเทศจะขยายไปในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ขณะที่สัดส่วนในร้านสะดวกซื้อคงที่
ในปีนี้หากจะต้องลงทุนจะต้องเป็นการลงทุนที่ไม่เสี่ยงด้วยการเปิดหน้าร้านหรือโชว์รูมในเพชรบูรณ์ เพื่อจำหน่ายของฝากรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว คาดว่า สิ้นปีนี้ยอดขายน่าจะถึง 200 ล้านบาท จากปีก่อน 160 ล้านบาท
แป้งมะขามสู่เส้นขนมจีน
งานวิจัยใช้ประโยชน์จากเม็ดมะขามเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ทำงานร่วมกับ ม.นเรศวร พบว่า เม็ดมะขามมีสารสร้างความข้นหนืด ที่มีคุณสมบัติคงตัวและละลายช้า ทดแทนบีมกัมได้ จึงเริ่มเก็บเม็ดมะขามเข้าห้องเย็นเพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ขายกิโลกรัมละ 2-3 บาทให้กับผู้ประกอบการนำไปผสมเมล็ดกาแฟ จากนั้นพยายามหาผู้เชี่ยวชาญตามมหาวิทยาลัย มาช่วยต่อยอดให้ของเหลือทิ้งมีมูลค่าเพิ่ม
เพราะจากข้อมูลงานวิจัย ระบุว่า เม็ดมะขามสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องนุ่งห่มและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงจุดประกายให้ทำงานร่วมกับนักวิจัย มรฏ.พิบูลสงคราม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเม็ดมะขามด้วยการแปรรูปให้เป็นแป้งแล้วพัฒนาเป็นเส้นขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป
"ขนมจีนมีทั่วประเทศ ที่ไหนก็เหมือนกัน จะสร้างความแตกต่างให้กับขนมจีนได้อย่างไร จึงเริ่มจากการลองผิดลองถูกเอาแป้งเม็ดมะขามไปผสมกับขนมจีนเส้นสด ซึ่งได้เนื้อสัมผัสที่รับรู้ได้ว่าแตกต่างจากเส้นที่ผสมแป้งมันล้วนๆ จึงมุ่งไปที่การทำนวัตกรรมเส้นขนมจีน ที่ให้คุณค่าของสารอาหารมากกว่าเส้นขนมจีนแบบเดิม”
ผู้ประกอบการส่งต่อแนวคิดนี้ให้กับนักวิจัย กระทั่งใช้เวลาพัฒนา 6 เดือนได้เป็นแป้งขนมจีนที่มีคุณสมบัติดูดซึมเร็ว มีไฟเบอร์สูง โดยเป็นเส้นแห้งสำเร็จรูปรายแรก ส่วนในอนาคตจะมีการต่อยอดออกไปอีก เพื่อให้เป็นขนมจีนสำเร็จรูปเหมือนกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่จำหน่ายในท้องตลาด เพียงแช่ในน้ำร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที
ดังนั้น จึงต้องมาพัฒนาสูตรน้ำยาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาสูตรเส้นขนมจีนว่า สัดส่วนการผสมเม็ดมะขามกี่เปอร์เซ็นต์ ที่จะทำให้รสชาติอร่อยและมีคุณค่ากับผู้บริโภคมากที่สุด