'เอชพี’ ชี้ อานิสงส์ กม.ไซเบอร์หนุนลงทุนไอที
“เอชพี” ยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์ ยอมรับ ธุรกิจไอทีภาพรวมได้อานิสงส์ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ องค์กรธุรกิจหันลงทุนระบบไอที ซิเคียวริตี้ เพิ่ม ขณะที่ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค แนะที่มากรรมการไซเบอร์ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจกฎหมายอย่างลึกซึ้ง
“เอชพี” ยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์ ยอมรับ ธุรกิจไอทีภาพรวมได้อานิสงส์ องค์กรธุรกิจหันลงทุนระบบไอที ซิเคียวริตี้ เพิ่ม กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคแนะที่มากรรมการไซเบอร์ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจกฎหมาย การทำร่างประกาศต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจนตกผลึก ด้าน
พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. หรือพ.ร.บ.ไซเบอร์ ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ยังคงมีความเห็นหลากหลายแง่มุม ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฝั่งของผู้บริโภค ออกมาแนะว่า ควรดึงผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฏหมายแบบรู้จริง เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการไซเบอร์ พร้อมเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ ขณะที่ฟากธุรกิจ ยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์ “เอชพี” ยอมรับว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ มีส่วนช่วยหนุนให้ภาคธุรกิจลงทุนไอทีเพิ่มขึ้น
นายปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด ยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์โลก ระบุว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ถือเป็นปัจจัยบวก เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านไอทีในภาคธุรกิจเพิ่ม แม้ที่ผ่านมา องค์กรในไทยจะมีการลงทุนด้านไอทีมาอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น แต่ยังมีบางองค์กรที่ยังไม่มีการลงทุนมากนัก เมื่อมี พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ เข้ามาจะทำให้องค์กรในระดับเอ็นเตอร์ไพรซ์ที่ยังไม่มีความพร้อมด้านไอที หันมาจัดซื้อคอมพิวเตอร์ หรือระบบไอทีเพิ่มเพื่อบริหารจัดการ และระบบจัดเก็บข้อมูลที่ได้ประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน จะหันมาให้ความสำคัญระบบซิเคียวริตี้เพิ่มขึ้นด้วย
“ต้องบอกว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ มีผลที่ทำให้ ตลาดไอทีมีความคึกคัก โดยเฉพาะยังมีองค์กรที่มีระบบไอทีไม่พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะมีการลงทุน จัดซื้อ วางระบบไอทีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ตลาดไอทีโดยภาพรวมคึกคักขึ้น” นายปวิณ กล่าว
กสทช.แนะหากูรูกม.รนั่งบอร์ดไซเบอร์
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศาา กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคม กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายนั้นจะกระทบกับผู้บริโภคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้นำไปบังคับใช้ หากนำไปตีความเพื่อดูแลระบบสาระสนเทศไม่ได้ไปสอดส่องข้อมูลของประชาชนจะไม่กระทบกับผู้บริโภค ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากฎหมายความมั่นคงไซเบอร์เป็นกฎหมายมีความจำเป็นต้องมีในยุคดิจิทัล เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับระบบถูกทำลายหรือได้รับความเสียหายได้ ที่ผ่านมาเวลาที่องค์กรเอกชนหรือองค์กรใหญ่ใหญ่ที่ถูกเจาะระบบมักจะปกปิดข้อมูล เพราะกลัวจะเกิดผลเสียต่อชื่อเสียงทาง การค้า ทำให้ผู้บริโภคทั่วไปไม่รู้ว่าสถานการณ์ทางด้านความมั่นคงของระบบสารสนเทศขององค์กรต่างๆเป็นอย่างไร หรือมีปัญหาตรงไหน
“รัฐทุกประเทศจึงต้องออกกฏหมายความมั่นคงไซเบอร์ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือถูกกระทำ ต้องทำรายงานมายังผู้ดูแลระบบสารสนเทศในภาพรวมได้เข้าใจสถานการณ์ จะเห็นว่ากฎหมายของทุกประเทศเน้นไปที่การดูแลในเชิงระบบทั้งนั้นไม่ได้มุ่งไปใช้ในการสอดส่องข้อมูลระดับบุคคล”
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตีความกฎหมาย ในการบังคับใช้กฎหมายที่กระทบสิทธิของประชาชน ควรนำบันทึกเจตนารมณ์ในการทำกฎหมายตั้งแต่ในการประชุมชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงบันทึกการประชุมสนช. ในการพิจารณากฎหมายมีการพูดคุยกันอย่างไรบ้าง โดยเอาข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และเผยแพร่ต่อสังคม เพื่อให้เกิดการติดตามตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมย์ ผู้ดูแลความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับนโยบายจะเข้าใจถึงที่มาที่ไปของกฎหมาย ไม่ทำอะไรนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ไม่ทำให้กรรมการที่ตั้งขึ้นมารู้สึกว่าตัวเองอิสระที่จะไปตีความอะไรก็ได้ตามที่ตัวเองคิดแต่ต้องตีความการบังคับใช้ตามเจตนารมย์ของกฎหมาย
ชี้ควรดึงกูรูด้านก.ม.ที่เชี่ยวชาญร่วม
การตั้งคณะกรรมการการรักษาปลอดภัยไซเบอร์ควรเลือกจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเข้าใจเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ เข้าใจโลกไซเบอร์อย่างแท้จริง ไม่ใช่มองเฉพาะมิติด้านความมั่นคงทางกายภาพอย่างเดียว นอกจากนี้การทำประกาศหรือกฎหมายลูกที่เขียนรายละเอียดในการบังคับใช้ต้องทำประกาศให้มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์และมีความชัดเจนในการตีความเพื่อการนำไปบังคับใช้ การจะทำให้การตีความเรื่องภัยคุกคามมีข้อยุติ จะต้องกำหนดว่าระดับของภัยคุกคามที่มีความร้ายแรงมีระดับอย่างไรหรือภัยชนิดไหนเรียกว่ามีความร้ายแรงเพียงใด เพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายดำเนินการได้ตามที่เกิดปัญหา
ถ้าขาดความชัดเจนในการตีความต้องรอจนข้อเท็จจริงชัดเจนจะเกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจขึ้นได้ และการลงประกาศหรือกฎหมายลูกในเรื่องที่มีความกังวลแบบนี้ควรจะมีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการทำประกาศ โดยให้กรรมการที่จัดทำร่างประกาศมีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่าไปทำในวงปิดเพราะจะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจถ้าการทำประกาศเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายตกผลึกจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายราบรื่น
ปัญหาความไม่มั่นใจในระดับผู้ดูแลนโยบายหรือคนออกกฎหมายคือกลัวกฎหมายจะไม่ครอบคลุมจึงออกกฎหมายมากว้างแต่ไม่ลงลึก ระดับประชาชนจึงกังวลว่ากฎหมายนั้นจะมาคุกคามหรือคิดตามใครบางคนจึงมีปัญหาความไว้ว่างใจ ถ้าทำให้เข้าใจได้ตรงกันหรือมีความชัดเจนมันจะหมดปัญหา อีกทั้งกฎหมายไซเบอร์ สามารถนำมาใช้ร่วมกับพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ โดยเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการติดตามการกระทำผิดต่อ อาทิ เมื่อมีการเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลจะสามารถติดตามตรวจสอบต่อเพื่อให้เจอต้นตอจริงๆว่าผู้กระทำผิดทำไปเพื่อขโมยข้อมูล หรือต้องการสร้างความเสียหายให้ต่อระบบสารสนเทศระดับชาติ ถ้าทำกฎหมายได้ดีและมีกรรมการไซเบอร์ที่เข้าใจจะขยายผลการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ให้เกิดประสิทธิภาพ