ไอโอที+เอไอ = Smart to Work
สมาคม Organic and Printed Electronics (OE-A) นำคณะสมาชิก ซึ่งมี "ดร.อดิสร" นักเทคโนโลยีจาก สวทช.ร่วมทริปด้วยไปประชุมสามัญประจำปีของสมาคม และเยี่ยมชม IBM Watson IoT Center เยอรมนี ที่ลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท
ช่วงนี้มีโอกาสได้มาประชุมสามัญประจำปีของสมาคม Organic and Printed Electronics (OE-A) ที่พาสมาชิกเยี่ยมชม IBM Watson IoT Center ตั้งอยู่ชานเมืองมิวนิค เยอรมนี ซึ่งเป็นแล็บนานาชาติด้าน IoT และ AI แห่งแรกที่อยู่นอกสหรัฐ โดยลงทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 7,000 ล้านบาท เน้นจ้างนักวิจัยรุ่นใหม่อายุน้อยและมีจำนวนเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย
บริษัทมีวิสัยทัศน์ว่า ข้อมูลหรือ Data คือทรัพยากรธรรมชาติแห่งอนาคต ปัจจุบันข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกสร้างขึ้นจากอุปกรณ์เซนเซอร์ที่เชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านทั้งเครือข่ายใช้สายและไร้สาย เทียบเท่ากับข้อมูลบนแผ่นซีดีมากกว่า 500 ล้านแผ่นต่อวัน และมนุษย์บนโลกสร้างข้อมูลมากกว่า 90% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
เพราะการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี IoT และการเติบโตของข้อมูลที่ได้จากโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ข้อมูลเพียง 20% เท่านั้นที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน นอกนั้นเป็นข้อมูลสะเปะสะปะที่ต้องวิเคราะห์จากปัญญาประดิษฐ์ ถึงจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้ บริษัทเน้นการวิจัยเพื่อนำไปใช้งาน 3 ด้านหลัก ได้แก่ Smart Industry, Smart Building และ Smart vehicle
การเปลี่ยนแปลงโมเดลทางธุรกิจของบริษัทนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่ 4 หรือเรียกว่า คลื่นลูกที่ 4 หลังจากทำธุรกิจคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมตั้งแต่ยุค 1970 หรือเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนมาเป็นธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ พีซี ในช่วงปี 1990 และมีการปรับธุรกิจครั้งใหญ่หลังจากบริษัทขาดทุนอย่างหนักมาเป็นการให้บริการ หรือ เซอร์วิสบิซิเนส และปัจจุบันก็เปลี่ยนธุรกิจมาเป็น ซอฟต์แวร์บิซิเนส ที่เน้น Cloud and Cognitive Solution โดยมีสโลแกนที่ว่า “เมก สมาร์ท ทู เวิร์ค” คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ รายได้ของบริษัทกว่าครึ่งหนึ่งจะมาจากธุรกิจนี้
สิ่งที่บริษัทเน้นคือ การสาธิตใช้งานเทคโนโลยีจริงในตึกที่แล็บตั้งอยู่ เช่น อาคารอัจฉริยะก็เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรและพลังงานของอาคาร ด้านการผลิตอัจฉริยะ เน้นการนำเทคโนโลยีไปใช้ในโรงงานแห่งอนาคตในยุค Industry 4.0 เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและลดการสูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากร
ด้านจราจรและยานยนต์อัจฉริยะ เน้นการทำให้ยานยนต์ทั้งรถยนต์ จักรยาน รถไฟและการขนส่งสาธารณะมีความฉลาดมากยิ่งขึ้น เซนเซอร์ในรถยนต์ปัจจุบันมีมากกว่า 800 ตัว ดังนั้น การจัดการกับข้อมูลจำนวนมากจึงต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์และยิ่งในอนาคตรถยนต์ไร้คนขับจะมาวิ่งบนท้องถนนมากขึ้น ยิ่งต้องการพลังการประมวลข้อมูลมหาศาลที่จะมาจัดการกับข้อมูลจราจรที่ต้องประสานกับข้อมูลเซนเซอร์ในรถยนต์ เพื่อให้รถยนต์ไร้คนขับทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่เเกิดอุบัติเหตุ
ความเห็นส่วนตัวจากการมาเยี่ยมเยียนแล็บครั้งนี้ ไอบีเอ็มก็ไม่ได้ไปไกลกว่าประเทศในเอเชียเท่าใดนัก อาจจะตามหลังจีนด้วยซ้ำในบางเรื่อง เช่น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face recognition) โดยเฉพาะ เอไอ แต่จุดเด่นที่ไอบีเอ็มมีคือ นำเสนอทุกอย่างเน้นโจทย์ที่ได้รับมาจากลูกค้าจริงให้มาทำ PoC หรือ Proof of Concepts และสร้างคุณค่าทางธุรกิจ
ตัวอย่างเช่น การนำเอไอและเทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กททรอนิกส์ จะช่วยทำให้การบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการปลอมแปลง ลดความเสี่ยงจากความเสียหายจากการขาดช่วงและการหยุดสายการผลิต เป็นต้น บ้านเราน่าจะต้องทำ Smart ให้ Work บ้าง ถ้ายังไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช., เมธีวิจัยอาวุโส สกว.