'การทูตนวัตกรรม' คีย์เวิร์ดไทยสู่ชาติแห่งนวัตกรรม
เอ็นไอเอใช้ยุทธศาสตร์ "การทูตนวัตกรรม" อาศัยพื้นฐานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมทั่วโลก เพื่อยกระดับความเป็นสากลของนวัตกรรมไทย และพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศให้ก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมในสายตาของประชาคมโลกในอีก 4 ปี
“บิ๊ก” วัคซีนพืชจากเปลือกปู กุ้งและแกนปลาหมึก โดยบริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด, แวกัสโซ่ (VAGASO) กาแฟที่ใช้เทคโนโลยีด้านชีวภาพหมักเมล็ดกาแฟ บ่มและควบคุมปัจจัยต่างๆ เลียนแบบการทำงานของกระเพาะชะมด ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไทยที่ก้าวสู่ตลาดโลกโดยอาศัยกลไกสนับสนุนจาก “การทูตนวัตกรรม” (Innovation Diplomacy) ซึ่งนำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาช่วยขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม
ปัจจุบันโครงการนี้เดินหน้าแล้วใน 28 ประเทศ อาทิ จีน อิสราเอล ลาว ออสเตรีย เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน แอฟริกาใต้และสหรัฐ ในปี 2562 ได้ขยายสู่ประเทศชิลี เคนย่าและแอฟริกาใต้ในเรื่องของเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ตามมาด้วยกลุ่มยุโรปกลาง 4 ประเทศ ได้แก่ โปแลนด์ ฮังการี เชค และสโลวาเกีย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่สามารถเจาะตลาดยุโรปตะวันออก
ธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร เอ็นไอเอ กล่าวในงาน “ASEAN Next 2019 : STI Leading towards Community Happiness” ว่า การทูตนวัตกรรมอาศัยพื้นฐานความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงานที่มีศักยภาพทางนวัตกรรมทั่วโลก เพื่อยกระดับความเป็นสากลของนวัตกรรมไทย และพัฒนาภาพลักษณ์ประเทศให้ก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมในสายตาของประชาคมโลกในอีก 4 ปี
โดยมีกลยุทธ์หลัก 3 ด้านคือ 1.จี2จี การสร้างเครือข่ายในกลุ่มองค์กรรัฐและองค์กรนานาชาติที่มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน โดยร่วมมือกับองค์กรรัฐที่มีบทบาทและภารกิจคล้ายเอ็นไอเอ และองค์กรนานาชาติที่มีความสำคัญในการแพร่กระจายองค์ความรู้ผ่านเครือข่าย
ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศที่มีบทบาทหน้าที่คล้ายกับเอ็นไอเอ เช่น Israel Innovation Authority (IIA) สนับสนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทอิสราเอล ความร่วมมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำดัชนีนวัตกรรมโลก เพื่อหาแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงดัชนีนวัตกรรมของไทยให้สูงขึ้น และความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรมในระดับเยาวชน และนวัตกรรมเชิงสังคมร่วมกับกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
2. จี2ไอ (Government-to-Investor) การเชื่อมโยงภาคเอกชนไทยกับนักลงทุนที่สนใจทำธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการทำงานใกล้ชิดกับสถานทูตต่างๆ ในไทย สถานทูตไทยในประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ทางธุรกิจ
3. จี2เอส (Government-to-Startup) การเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลให้แก่ภาคธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการประสานความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้เกิดการค้นหาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างตลาดสำหรับการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย
“นวัตรรมไทยในมุมมองชาวต่างชาติดีขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่สนใจจะร่วมมือกับไทยและสมาชิกอาเซียนมากขึ้น ด้วยจุดแข็งทั้งในเชิงนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมท้องถิ่น เราจึงอยากที่จะทำให้โลกเห็นว่า ไทยมีนวัตกรรมอะไรบ้าง ซึ่งหลายประเทศมองเราโดดเด่นในหลายด้าน โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร เกษตร การท่องเที่ยว”
ปัจจุบันมีประเทศที่ให้ความสนใจทำงานด้านนวัตกรรมร่วมกับไทย นอกจากฝรั่งเศส อิสราเอล เยอรมนี จีนแล้ว ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศที่แอคทีฟมาก อย่างองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) สนับสนุนทุนโครงการนวัตกรรมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม 10 โครงการๆ ละกว่า 100 ล้านบาทให้กับภูมิภาคอาเซียน ส่วนสถาบันวิจัยโนมูระซึ่งโดดเด่นด้านไอที ได้ร่วมกับเอ็นไอเอและเด็นโซ่ คอร์ปอเรชั่น ทำนวัตกรรมด้านลีนออโตเมชั่น
ยาซึชิ คนโนะ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยโนมูระ กล่าวว่า ความร่วมมือกับเอ็นไอเอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการพัฒนาสมาร์ท แมนูแฟคทอริ่งและสมาร์ท ลอจิสติกส์ ที่ได้รับทุนจากทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านกระทรวงเศรษฐกิจและการค้า และรัฐบาลไทยผ่านกกระทรวงอุตสาหกรรม จากนั้นต่อยอดสู่การทดสอบในอุตสาหกรรมผ่านบริษัทเด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้งความร่วมมือกับไทยจะเป็นสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
“ไทยโดดเด่นเรื่องของแมนูแฟคทอริ่งและออโตโมทีฟ แต่ความท้าทายหลักของไทยคือ การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในการนำนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งบุคลากรนับเป็นฟันเฟืองสำคัญ เราจึงต่อยอดสู่ศูนย์ LASI หรือ Lean Automation System Intregrators เพื่อสร้างคน ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับลีน ออโตเมชั่น”