อี-สปอร์ตไทย ท็อปฟอร์ม "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด-เอเซอร์" เทงบปั้นนักกีฬา

อี-สปอร์ตไทย ท็อปฟอร์ม "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด-เอเซอร์" เทงบปั้นนักกีฬา

อีสปอร์ตไทยระอุ "บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด" ทุ่มงบไม่อั้นปั้นอะคาเดมีสร้างนักกีฬาอี-สปอร์ต ตั้งเป้าใน 5 ปี ติดอันดับโลก ผนึกกำลังร่วมยักษ์พีซี “เอเซอร์” ตั้ง “พรีเดเตอร์ อารีน่า”ภายใน “ช้าง สเตเดียม” ยกคอมพ์สเปคเทพกว่า 100 ชุด ดันสู่ฮับแข่งอี-สปอร์ตครบวงจร

“ภายใน 5 ปี ผมคิดว่าเราต้องไปให้ถึงระดับท็อปของอีสปอร์ตโลก ตอนนี้เราต้องดึงตัวแชมป์โลกหรืออดีตแชมป์โลก มาอยู่กับทีมอีสปอร์ตของบุรีรัมย์ให้ได้”

“เนวิน ชิดชอบ” ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวภายในงานเปิดตัว “พรีเดเตอร์ อารีน่า” อี-สปอร์ต สเตเดียมที่ครบวงจรแห่งแรกตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของสนากีฬา ช้าง อารีน่า ของสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จ.บุรีรัมย์ ประตูสู่ภาคอีสาน เป็นการผนึกกำลังร่วมกันกับบริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ ที่สนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง 100 เครื่อง ราคาต่อเครื่องหลัก 100,000 บาท

พรีเดเตอร์ อารีนา มีพื้นที่ราว 380 ตารางเมตร เป็นคอมมูนิตีอี-สปอร์ตครบวงจร ประกอบด้วยห้องแข่งขัน ห้องประชุมทีม รวมถึงห้องถ่ายทอดสด

เนวิน กล่าวว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พร้อมสนับสนุนกีฬา อี-สปอร์ต ให้สามารถไปแข่งได้ในระดับโลก โดยจะใช้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากการทำทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ พร้อมกับผลักดันลูกชายคนโต “ไชยชนก ชิดชอบ” ผู้ที่จุดประกายความสนใจในกีฬาชนิดนี้เข้ามาบริหารจัดการอย่างเต็มตัว

พรีเดเตอร์ อารีนา จะเปิดให้บริการทุกวัน พร้อมทั้งทำอะคาเดมี ยกระดับ พัฒนาเด็กให้มีขีดความสามารถในกีฬาอี-สปอร์ตให้สูงขึ้น

“อีสปอร์ตสำหรับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ลงทุนต่อปีไม่ต่ำกว่าหลายสิบล้านบาท เฉพาะอารีนาใช้เงินเกือบ 30 ล้านบาท มีค่าดำเนินการ ค่าระบบที่ต้องรัน แต่ค่าใช้จ่ายที่จะโตขึ้นในอนาคต เมื่อเราเซ็ตระบบอะคาเดมีขึ้นมา การหาคนที่มีความสามารถคนที่จะฝึกสอนเด็กไทย ให้เป็นมืออาชีพ มือระดับโลกได้ ตรงนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล” เนวิน กล่าว

ปั้น “ช้างเผือก” สู่ระดับโลก

หนึ่งในเป้าหมายของประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ฯ จะเพิ่มความถี่ของการมีอี-สปอร์ต อีเวนต์ให้มากขึ้น เพื่อหาช้างเผือก และทำให้คนเกิดการพัฒนา “เนวิน” บอกว่า ในไทยมีทีมอีสปอร์ตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีใครมีอารีนา สเตเดี้ยม เป็นของตัวเองอย่างถาวร การตัดสินใจทำ เพราะต้องการให้เสถียรและได้มาตรฐานโลก

"เราต้องสร้างเด้กขึ้นมาในอะคาเดมีที่เรามี มันไม่มีทางสำเร็จหรอกถ้าให้เด็กไปใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านเพื่อฝึกเกม แล้วพัฒนามาเป็นมืออาชีพไปแข่งระดับมือโปร หรือระดับเอเชียหรือระดับโลก มันไม่มีทางทำได้ เพราะสปีดหรือความแรงของเครื่องทุกอย่างมันแตกต่างไปหมด เราจึงตัดสินใจทำแบบนี้”

เมื่อถามถึงรายได้หมุนเวียนที่จะเกิดขึ้น จากการลงทุนเรื่องอี-สปอร์ต “เนวิน” บอกว่า รายได้ต้องมาทีหลัง แต่เชื่อว่ากีฬาอีสปอร์ตเป็นกีฬาที่มีคอมมิวนิตี้ใหญ่มาก อาจใหญ่กว่าฟุตบอลด้วยซ้ำไป ถ้าสร้างความศรัทธาและยอมรับได้ก็จะเป็นทีมที่นิยมได้

"ถ้าการลงทุนทำอะไรแล้วไปคิดถึงเรื่องต้องมีรายได้ก่อน แล้วก็ค่อยไปทำ ผมว่ามันไม่มีทางสำเร็จ เราตัดสินใจทำตรงนี้ ยอมมีค่าใช้จ่ายหลายสิบล้านบาทต่อปี เราอาจจะต้องลงทุน 4-5 ปี จนกว่ามันจะหล่อเลี้ยงตัวเองได้เกิดได้ แต่อย่างน้อยมันกระตุ้นวงการและทำให้อีสปอร์ตของประเทศไทยมันเติบโตขึ้น"

เนวิน ยังกล่าวถึง บทบาทภาครัฐว่า ต้องเป็นผู้ควบคุมกำหนดมาตรฐานที่ดีให้อีสปอร์ต มีมาตรฐานการคัดเลือก มีความยุติธรรม

"ผมเชื่อว่าโลกของอีสปอร์ต เป็นโลกของคนเจนเนอเรชันใหม่ คนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนมหาศาลที่สนใจและใส่ใจ ถ้าภาครัฐใส่ใจเรื่องนี้วางกฏกติกาให้มันดี ผมเชื่อว่ามันจะโตกว่ากีฬาทุกประเภทในไทยด้วยซ้ำไป”

“ไชยชนก”ชี่้เป็นก้าวแรก

ด้าน ไชยชนก ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสายงานการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด และเป็นผู้บริหารทีมอีสปอร์ต บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในวงการอี-สปอร์ต เขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้งว่า เป็นเด็กติดเกมมาก่อน และหลงใหลวงการนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ต่างประเทศ ทำให้เขารู้ว่าอี-สปอร์ตมีความยิ่งใหญ่ในระดับโลกมากแค่ไหน โดยเฉพาะการสร้างรายได้ให้กับนักกีฬา

ไชยชนก กล่าวว่า สิ่งที่เขาลงมือทำ คือ การมองหาเกมที่มีมูลค่าและโอกาสทางธุรกิจมากสุดในไทย ส่วนงบประมาณที่ต้องใช้นับสิบล้านบาท ใช้ไปกับการพัฒนาทีม-อีสปอร์ต โดยเฉพาะเงินเดือนนักกีฬาเฉลี่ยต่อคนหลักหลายหมื่นบาท

เกือบหนึ่งปีที่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดทำอี-สปอร์ต โดยผ่านมา 2 ซีซั่น ในเกม DOTA2 และ PES มีแชมป์ติดมือและได้ไปแข่ง PES World ชิงแชมป์โลกที่อังกฤษ ขณะที่ ROV ฤดูกาลที่แล้วคว้าอันดับที่ 3

"นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องเรียนรู้ เพระอี-สปอร์ตก็ยังเป็นของใหม่ ต้องให้คนเข้าใจวงการนี้ให้มากขึ้น" ไชยชนก กล่าว 

หนุน “พีซีเกมมิ่ง” โต

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด จำกัด กล่าวว่า กีฬาอีสปอร์ตเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก นอกจากสร้างรายได้จากให้อาชีพนักกีฬาอีสปอร์ต ยังทำให้อีโคซิสเต็มส์ที่เกี่ยวข้องเติบโตมี มีการสร้างงาน เกิดอาชีพใหม่ๆ

ส่วนในไทยมีความพร้อมมากขึ้น มีทีมที่อยู่ในระดับโลก แต่สิ่งที่ขาด คือ การพัฒนาทีมที่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี มีมาตรฐานเหมือนต่างประเทศ มีห้องซ้อม มีแผนการซ้อม มีระบบการให้เงินเดือน ซึ่ง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีความพร้อมมากที่สุด 

“อุตสาหกรรมพีซีเป็นหนึ่งในอีโคซิสเต็มส์สำคัญ เอเซอร์มีสัดส่วนยอดขายจากพีซีเกมมิ่งในส่วนของเอเซอร์เองประมาณ 25% เราเชื่อสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30%ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”

ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ตลาดอีสปอร์ตของประเทศไทยมีผู้เล่นเกมอยู่ถึง 18.3 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายในตลาดเกม 19,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากปี 2560 มีผู้ชมการแข่งขันกว่า 2.6 ล้านราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 30% ในช่วง 2560-2564