‘กอล์ฟดิกก์’จองสนามขยับตลาดรับอินบาวด์
Golfdigg บริการจองสนามกอล์ฟผ่านออนไลน์ ที่รวมการรับจองสนามกอล์ฟและการจ่ายเงินไว้ในที่เดียวกัน ได้ก่อร่างสร้างตัวมาถึงขวบปีที่ 5 ภายใต้แนวคิดการนำสล็อตว่างของสนามกอล์ฟทั่วไทยมาขายแบบ last minute deals
กอล์ฟดิกก์ (Golfdigg) บริการจองสนามกอล์ฟผ่านแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ ที่สามารถรวมการรับจองสนามกอล์ฟและการจ่ายเงินไว้ในที่เดียวกัน ได้ก่อร่างสร้างตัวมาถึงขวบปีที่ 5 ภายใต้แนวคิดการนำสล็อตว่างของสนามกอล์ฟทั่วไทยมาขายแบบ last minute deals หรือจองด่วนเย็นนี้เข้าสนามกอล์ฟพรุ่งนี้ ช่วยให้ผู้เล่นกอล์ฟได้ราคาถูกลง และสนามกอล์ฟเองก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
จากขวบปีแรกมีผู้โหลดใช้งานหลักพัน ขยับยอดสมาชิกที่ดาวน์โหลดแอพฯ ณ ปัจจุบัน 8 หมื่นคน มีสนามกอล์ฟร่วมเป็นเครือข่าย 120 แห่งซึ่งคัดเลือกเฉพาะที่ได้มาตรฐานสากล จากที่มีอยู่ในไทยประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่พนักงานก็เพิ่มเป็น 23 คนจากเดิม 5 คน องค์กรที่ขยายใหญ่ขึ้นทำให้ต้องหาพี่เลี้ยงหรือโค้ชให้คำปรึกษาแนะนำ
ภูริชช์ อักษรทับ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง บริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS 2019) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีกลไกอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้เข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นที่ปรึกษาด้านการบริการจัดการองค์กรและทรัพยากรบุคคล จัดโครงสร้างองค์กรอย่างเป็นระบบ และกิจกรรมต่างๆ พร้อมการเชื่อมโยงพันธมิตร และขยายเครือข่ายออกสู่ตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการซัคเซสมีบริการ Coaching แบบ ONE on ONE Coaching & Consulting โดยที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัว โดยผู้ประกอบการสามารถนำประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทางธุรกิจมาพบที่ปรึกษาเพื่อรับฟังแนวคิดและแนวทางแก้ไขให้สามารถพัฒนาธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งยังให้สิทธิรับทุนสนับสนุนไปออกงานนิทรรศการ และประกวดในงาน Award ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และสิทธิในการพิชชิ่งเพื่อรับทุนต่อยอดการตลาดและธุรกิจเฉพาะสตาร์ทอัพในโครงการเท่านั้น
“5 ปีที่ผ่านมา ภาพหลักของเราก็ยังโฟกัสที่ธุรกิจกอล์ฟเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เราโฟกัสเปลี่ยนไปคือ ลูกค้าจากเดิมมุ่งกลุ่มเป้าหมายที่นักกอล์ฟคนไทยพอเห็นว่าตลาดเมืองนอกใหญ่ขึ้นก็เริ่มขยายสู่นักกอล์ฟชาวต่างชาติ แต่ยังเป็นชาวต่างชาติที่พำนักในไทยอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ตอนนี้เริ่มขยายตลาดไปเน้นลูกค้าที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพื่อมาตีกอล์ฟในบ้านเรา ซึ่งมีความต้องการในเซอร์วิสอื่นๆ มากกว่าการตีกอล์ฟ เช่น โรงแรมที่พักบริการรถรับส่ง ร้านอาหารและอื่นๆ”
สำหรับภาพรวมกิจกรรมชนิดนี้ ในประเทศไทยมีคนไทยเล่นกอล์ฟ 4-5 แสนคน นอกจากนี้ยังมีที่อินบาวด์หรือนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาใช้สนามกอล์ฟในบ้านเราประมาณ 7 แสนคน รวมประมาณ 1 ล้านคน ขณะที่ความนิยมของคนไทยก็เปลี่ยนไป โดยพบว่าผู้เล่นที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นลดลง แต่รุ่นที่เป็นเด็กเล็กเพิ่มขึ้น ในส่วนของสนามกอล์ฟมีเปิดใหม่เฉลี่ยปีละ 2 สนาม ซึ่งจะเป็นระดับมาตรฐาน 4-5 ดาวหรือพรีเมียมเพื่อรองรับตลาดระดับบน
“หากพิจารณาจำนวนคนที่เล่นกอล์ฟในไทยรวมแล้ว 4-5 แสนคน ขณะที่ชาวต่างชาติเข้ามาเล่น 7-8 แสนคน จำนวนต่างกันเกือบเท่าตัวของตลาดเดิม ดังนั้น เราพยายามทำบริการพื้นฐานต่างๆ ให้แน่น เช่น จำนวนสนามสมาชิกที่ให้บริการ สินค้าบริการที่ครอบคลุม จากนั้นค่อยขยายสู่ต่างประเทศ”
ทั้งนี้ จุดเริ่มของกอล์ฟดิกก์เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาจากการจองสนามในรูปแบบเดิมๆ ด้วยช่องทางการโทรศัพท์ หรือการ walkin แนวคิดการทำธุรกิจเริ่มจากการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องแรกคือการบริหารเวลาของสนามกอล์ฟ ซึ่งคล้ายกับห้องพักโรงแรม หากไม่มีการเช่าห้องเกิดขึ้นก็เป็นต้นทุนที่สูญเสีย แต่หากมีการเช่าแต่ค่าเช่าอาจต่ำกว่าอัตราปกติ ก็ยังถือว่ามีรายได้ เช่นเดียวกับสนามกอล์ฟ หากมีลูกค้า 10 คนขณะที่รองรับได้ 100 คน ส่วนที่เหลืออีก 90 คนก็เป็นการสูญเปล่า ซึ่งบริษัทช่วยนำตรงนี้มาบริหารจัดการแทน โดยเชื่อมโยงนักกอล์ฟกับสนามกอล์ฟผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
“หลักการทำงานคือสนามกอล์ฟ มักจะมีคิวที่ว่างอยู่ในแต่ละวัน แต่ขาดคนเข้ามาจอง จึงนำช่วงเวลานั้นมาจัดขายเป็นแพ็คเกจราคาถูก ทำให้ผู้เล่นสามารถกดจองในช่วงเวลานั้นๆ ได้ เจ้าของสนามก็มีรายได้จากช่วงเวลาที่ปกติไม่มีใครจองเข้ามาปัญหาอีกอย่างคือ สนามมักจะปิดรับจองหลัง 5 โมงเย็น ทำให้ไม่สามารถจองได้ แต่การจองผ่านแอพทำได้ 24 ชั่วโมง”
กอล์ฟดิกก์จะช่วยให้นักกอล์ฟทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสะดวกสบายในการจองเวลาออกรอบเพียงไม่กี่ขั้นตอน รวมไปถึงการสะสมคะแนนเพื่อแลกสินค้าและบริการต่างๆ ที่สำคัญคือ นักกอล์ฟมีโอกาสรู้จักสนามแห่งใหม่จากเดิมที่มักเลือกไปตีสนามเดิมๆ เพราะมีความคุ้นเคยเป็นหลัก จึงเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วย