'ซีวิค มีเดีย' ทรานส์ฟอร์มสู่ LED Plant Factory ตอบโจทย์สมาร์ทฟาร์ม

'ซีวิค มีเดีย' ทรานส์ฟอร์มสู่ LED Plant Factory ตอบโจทย์สมาร์ทฟาร์ม

“ซีวิค มีเดีย” อุตสาหกรรมจอภาพและหลอดแอลอีดี ฉีกตัวหนีสงครามราคาในธุรกิจ แอลอีดี อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านคลื่นแสง ต่อยอดสู่เกษตรกรรมสมัยใหม่ในรูปแบบ LED Plant Factory โรงงานผลิตพืชระบบปิดใช้แสงเทียมจากแอลอีดี

เทคโนโลยีการผลิตพืชสมัยใหม่โดยใช้แสงเทียมที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจจึงกลายมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของภาคเกษตรกรรมในขณะนี้ ‘โรงงานผลิตพืช’ หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า ‘Plant Factory’ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์การแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการผลิตพืชในรูปแบบใหม่ ที่เป็นโรงเรือนแบบปิดโดยใช้แสงไฟ ‘LED’ แทนพลังงานจากแสงอาทิตย์ มาเป็นตัวช่วยในการเจริญเติบโตของพืชนานาชนิด ทำให้สามารถควบคุมการปลูกพืชได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งสภาพแสง ความชื้น อุณหภูมิ แร่ธาตุ หรือแม้กระทั่งปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของพืชที่ใช้ในการเจริญเติบโต

‘โรงงานผลิตพืช...โมเดลใหม่แห่งภาคเกษตรไทย’

ชิงชัย คนธรรพ์สกุล ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท ซีวิค มีเดีย จำกัด เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตหลอดไฟและจอ LED แต่ถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีหลอดแอลอีดี และราคาของหลอดไฟที่หดตัวลงจนเกิดการแข่งขันกันด้านราคา อีกทั้งสินค้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่าเท่าตัว จึงได้มองหาจุดเปลี่ยน โดยให้ความสำคัญกับงานวิจัย การไปศึกษาดูงานด้านโรงงานผลิตพืชและการผลิตพืชในระบบปิดจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับมีหน่วยวิจัยที่เข้มแข็งเป็นทุน จึงได้ผันตัวให้หน่วยวิจัยศึกษาและพัฒนาการปลูกพืชในระบบ (Plant factory with artificial light: PFAL) รวมถึงชุดอุปกรณ์ปลูกผักตกแต่งบ้าน โดยอาศัยองค์ความรู้ทางเกษตร วิศวกรรมและเทคโนโลยีด้านหลอดไฟแอลอีดี จนเป็นที่มาของการปลูกพืชด้วยหลอดไฟ ‘LED’ ต่อยอดสู่ ‘Plant Factory’ หรือการปลูกพืชไฮโดรโปรนิกส์ใน โรงเรือนแบบปิด ในที่สุด ผ่านการควบคุมแบบอัตโนมัติทั้งหมด

การวิจัยเกี่ยวกับคลื่นแสง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ว่าประเภทไหน เหมาะกับพืชชนิดไหน และสารอาหาร หรือ อุณหภูมิแบบไหนเหมาะกับพืชชนิดไหน เนื่องจากปกติการมองเห็นของคนจะมองเห็นเป็นเพียงแสงสีขาวเท่านั้นแต่จริงๆแล้ว ภายในแสงเหล่านี้จะมีแสงอื่นๆอยู่ด้วยประมาณ 7 แสง แต่มีเพียงไม่กี่แสงเท่านั้นที่พืชต้องการซึ่งนั่นก็คือแสงสีแดง ความยาวของคลื่นอยู่ที่ 600-700 นาโนเมตร ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยสังเคราะห์แสง เป็นสีที่พืชดูดซับมากที่สุด ส่งเสริมการงอกของเมล็ดพืช หรือ ยับยั้งการงอกของเมล็ดพืชบางชนิด และยังส่งผลต่อการออกดอกของพืช ส่วนแสงสีน้ำเงิน ความยาวของคลื่นอยู่ที่ประมาณ 400-500 นาโนเมตร ที่ช่วยสังเคราะห์แสง การตอบสนองของพืชต่อแสงในเรื่องการเบนหรือโค้งงอเข้าหาแสงของพืช


ส่วนใหญ่ผักที่ปลูกจะเป็นจำพวกสลัดเนื่องจากเป็นที่นิยมและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงไม่ว่าจะเป็น กรีนคอส ,ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก ,ผักกาดหอมบัตเตอร์เฮด และกรีนโอ็ค แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ ‘คะน้าใบหยิก’ เป็นผักในตระกูลเดียวกันกับคะน้า กะหล่ำปลี และบร็อคคอรี่ แตกต่างกันที่คุณค่าทางอาหาร ซึ่งจะมีวิตามิน B2 และแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อการควบคุมสมดุลกรด-เบส ในกระแสเลือด พร้อมทั้งช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรงอีกด้วย โดยคะน้าใบหยิกได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีแห่งผัก’ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุดในโลก ซึ่งผู้บริโภคนิยมนำมาทานสด หรือทานเป็นสลัด ซึ่งมักปลูกในอุณภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส จึงทำให้ประสบกับปัญหาของสภาพอากาศในประเทศไทย ซึ่ง LED Grow Light จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด


ในส่วนของตลาดมองว่า Smart indoor growing system แม้ผลผลิตจะมีต้นทุนสูงกว่าระบบธรรมชาติแต่แลกมาด้วยคุณภาพที่ดีกว่า 100% สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีเนื่องจากมีผลผลิตที่สะอาดมากถึงขั้นไม่ต้องล้างก่อนรับประทาน ไม่มียาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าเชื้อรา เพราะปลูกในโรงเรือนระบบปิดโดยใช้พลังงานแสงทดแทน พวกสารพิษตกค้างจะไม่มี รสชาติอร่อยกว่าผักทั่วไป เนื่องจากผักที่ปลูกไม่ได้รับความเครียดเพราะอยู่ในห้องแอร์ ให้แสง และสารอาหารที่พอเหมาะ ไม่มีการเร่งให้เจริญเติบโต รสชาติก็จะออกมาดีนั่นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนการเลี้ยงวัวด้วยแอลกอฮอล์นั่นเอง


กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจใหม่อย่างการปลูกพืชในโรงเรือนแบบปิดโดยใช้พลังงานแสงทดแทนอย่าง LED มีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรยุคดิจิทัล และ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่อยากจะลงทุนเกี่ยวกับการทำเกษตรในเมือง ซึ่งสามารถจะปลูกผักในตึกแถว อาคารพาณิชย์ได้อย่างง่ายดายบนเนื้อที่ประมาณ 100-150 ตารางเมตร เพื่อง่ายต่อการควบคุม เมื่อหากพืชเกิดโรคจะสามารถควบคุมได้อย่างรวดเร็วและไม่แพร่กระจายสู่แปลงอื่นๆ

แค่กดเลือกชนิดพืช แล้วให้ AI จะทำงานแทน


ตลาดโรงงานผลิตพืช หรือ Plant Factory ที่ใช้ ‘LED’ในกระบวนการผลิตนั้นทั่วโลกมีฐานการผลิตราว 400 แห่งอาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน เกาหลี เป็นต้น ในประเทศไทยมองว่าน่าจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น เรียกได้ว่าเป็นแค่สเกลทดลองเท่านั้น แต่ ‘ซีวิค มีเดีย’ ถือเป็นบริษัทแรกที่ทำการปลูกพืชในโรงเรือนระบบปิดที่ใช้ LED สมบูรณ์แบบและมีผักออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์จริงๆ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนา AI ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถย้อนกลับมาควบคุม Plant Factory ได้แบบอัตโนมัติ โดยจะอยู่ในกระบวนการเก็บค่าต่างๆ ในแต่ละวันแล้วส่งขึ้นไปที่คราวด์ จัดเก็บเป็นบิ๊กเดต้า ให้ AI Learn สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คนซื้อระบบไปไม่จำเป็นต้องรู้ศึกษาขั้นตอนมากมาย เพียงแค่กดเลือกได้เลยว่าต้องการจะปลูกพืชชนิดไหน เช่นต้องการที่จะปลูกตั้งโอ๋ เมื่อกด AI ก็จะจัดการให้ทุกอย่างทั้ง ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงการให้แสง สารอาหาร และอุณหภูมิที่เหมาะสม อีกทั้งระบบการทำงานเหล่านี้สามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมการปลูก แบบ manual หรือ auto หรือแม้กระทั่งการควบคุมชุดปลูกหลายชุดได้ในแอพพลิเคชั่นเดียว

โรงงานผลิตพืช ตอบโจทย์ในยุคเกษตร 4.0


ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือทางการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ในยุคเกษตร 4.0 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยคาดว่าไทยมีเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นช่วง 3 ปีนี้ (ปี 2562-2564) เนื่องจากต้นทุนยังสูงอยู่ที่ราว 3.0 ล้านบาท แต่ในระยะ 3-8 ปีข้างหน้า จะเห็นภาพการนำโรงงานผลิตพืชเข้ามาใช้ในภาคการเกษตรอย่างแพร่หลายมากขึ้น และสามารถทำในลักษณะการค้าเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ต้นทุนโรงงานผลิตพืชอาจลดลงราวร้อยละ 20 ต่อปี ไปอยู่ที่ 1.0-2.4 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ที่สนใจในธุรกิจโรงงานผลิตพืชเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น


ทั้งนี้ นอกจากจะมีการทำฟาร์มในเมืองที่เป็น LED Plant Factory แล้วยังมีการนำสินค้าเกษตรที่ได้จากการทำวิจัยและพัฒนามาวางจำหน่ายในร้านค้าภายใต้แบรนด์อีกด้วย โดยวางจำหน่ายผ่านช่องทางโซเชียล นับว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ 100% เพื่อเป็นโมเดลธุรกิจให้กับลูกค้าที่สนใจ และสามารถจับต้องได้จริงซึ่งหากนำไปต่อยอดก็จะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี โดยจะมีกระบวนการแนะนำตั้งแต่การสร้างห้องปลูกผักในเมือง จนนำไปสู่การวางขายในตลาด อีกทั้งในขณะนี้อยู่ระหว่างการรอลงนามความร่วมมือ กับสถาบันการศึกษา 2 แห่งในประเทศไทย ที่จะทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้ LED Plant Factory ในการปลูกพืชกัญชา ตลอดจนพัฒนาต่อยอดไปใช้ในเชิงพาณิชย์


นับว่าเป็น “เทคโนโลยี” ที่ปฏิวัติวงการเกษตรได้อย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรยุคใหม่เท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปจำนวนมาก เพราะสามารถปลูกพืช ผักได้หลากหลายชนิด ตอบโจทย์กระแสรักสุขภาพในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังพลิกโฉมเป็นของแต่งบ้านให้เข้ากับ green zone ได้อีกด้วย ไม่แน่ว่าในอนาคตภาคเกษตรแบบ Plant Factory จะเข้ามามีบทบาทในเชิงพาณิชย์ไทยมากยิ่งขึ้น