‘2P Safety Tech’ ปูทางสู่สมาร์ทฮอสพิทัล
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล จัดเวทีพิชชิ่ง 2P Safety Tech Pitching คัดเลือกผลงานดีเด่นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากร รพ.ใน 3 ด้านในกลุ่ม Collaboration, Change และ Care
รถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า, สมาร์ท โอพีดี-เครื่องมือ Stop Fall และระบบบริหารเวรเปล ผลงานรางวัลนวัตกรรมดีเด่นจากโรงพยาบาล ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น สนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (สมาร์ท ฮอสพิทัล) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ร่วมกับ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดเวทีพิชชิ่ง 2P Safety Tech Pitching ภายในงาน “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก” และ “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย” เพื่อคัดเลือกผลงานดีเด่นใน 3 ด้านในกลุ่ม Collaboration, Change และ Care
แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า โครงการ 2P Safety Tech หรือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรในโรงพยาบาล เป็นความร่วมมือระหว่าง สรพ. และ สวทช. ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ประกอบกับความต้องการที่จะใช้นวัตกรรมเพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่ง สวทช. มีเครือข่ายนวัตกร (Innovator) ที่สามารถรับโจทย์ไปพัฒนาต่อได้
โครงการฯ ปี 2561 มีโรงพยาบาลเข้าร่วม 18 แห่ง โดยร่วมพิชชิ่ง 12 แห่งสำหรับโรงพยาบาลที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินนวัตกรรมแล้ว ปรากฏว่า ชนะเลิศด้าน Collaboration ได้แก่ โรงพยาบาลหนองม่วง จ.ลพบุรี กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า 4.0 ขณะที่ด้าน Care มีด้วยกัน 2 รางวัล โดยรางวัล Care ในมุม attractive ได้แก่ โรงพยาบาลมหาสารคาม จ.มหาสารคาม กับผลงาน Smart OPD เพิ่มคุณค่า ลดระยะเวลารอคอย รางวัล Care ในมุม expected quality ได้แก่ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กับผลงานเครื่องมือ Stop Fall และรางวัลด้าน Change ได้แก่ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ กับผลงานระบบบริหารเวรเปลเพื่อคุณภาพและความปลอดภัย
ศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการ BIC กล่าวว่า แนวทางสร้างนวัตกรรมของ 2P Safety Tech จะเน้นทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ (เฮลท์ เทค) และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบที่สอดคล้องกับบริบทปัญหาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เพื่อช่วยให้ระบบงานบริการในโรงพยาบาลสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นทั้งในส่วนผู้ป่วยและบุคลากรการแพทย์ของโรงพยาบาล
ด้านโรงพยาบาลที่ได้รางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้าน Care กับเครื่องมือ Stop Fall แพทย์หญิงจันทรา นราตรีคูณ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริหารสุขภาพ โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นจากปัญหาที่มีเด็กเล็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ตกเตียงบ่อยๆ ทุกปี จึงพยายามหาตัวช่วย ตอนแรกคิดถึงเหมือน airbag (ถุงลมนิรภัย) ของตัวรถ แต่ผู้พัฒนานวัตกรรมบอกว่าไอเดียนี้ทำยาก จึงปรับเปลี่ยนเป็นแนวคิดป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
ด้วยการทำเซ็นเซอร์ยกเตียงขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น เกิดเป็นโครงการพัฒนาระบบป้องกันการตกเตียงในเด็ก เพราะเด็กจะมีพฤติกรรมตามแม่ ถ้าแม่มาชงนมเด็กจะคลานตามลงมาเลย นวัตกรรม stop fall เมื่อแม่ลงจากเตียงแล้วไม่ได้ยกไม้กั้นเตียงขึ้นภายใน 10 วินาที ระบบตรวจจับการยกไม้กั้นเตียง และระบบเตือนเมื่อไม่ยกไม้กั้นเตียงจะทำงานทันที ด้วยแสงไฟและเสียงที่จะส่งสัญญาณเตือนติ๊ดๆ อัตโนมัติไปที่โทรศัพท์มือถือของพยาบาล ตอนนี้มีเตียงต้นแบบ stop fall ที่ทดลองใช้จริงแล้ว 4 เตียง
ส่วนรางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้าน Collaboration กับผลงานรถขนส่งอาหารขับเคลื่อนไฟฟ้า 4.0 สุภาพร ไชยตะมาตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลหนองม่วง กล่าวว่า การออกแบบรถต้นแบบได้ประสานกับวิทยาลัยลพบุรี พร้อมทั้งไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลพระพุทธบาท จนสามารถพัฒนาสร้างรถต้นแบบได้ ทำให้บุคลากรที่ใช้รถปฏิบัติงานสะดวก ลดอาการบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน ส่วนผู้ป่วยได้รับอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อนระหว่างขนส่ง และโรงพยาบาลเองได้ประหยัดต้นทุนด้วยอีกทางหนึ่ง