‘บลูริบบอน’ แผ่นปิดแผล นวัตกรรมแห่งการซ่อมแซม

‘บลูริบบอน’ แผ่นปิดแผล นวัตกรรมแห่งการซ่อมแซม

จากการวิจัยเฟ้นหาแบคทีเรียในการสมานแผลของ ‘โนวาเทค’ จนได้ผลลัพธ์เป็นเส้นใยไบโอเซลลูโลส ผสมกับนวัตกรรมใหม่อย่างซิลเวอร์นาโนสีฟ้า ต่อยอดสู่นวัตกรรมแผ่นปิดแผลทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมสูงทั้งตลาดโรงพยาบาลในไทยและต่างประเทศ

คีย์เวิร์ดสำคัญสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน

จากที่เคยทำงานในบริษัทยาข้ามชาติมานานกว่า 10 ปี ทำให้มีความฝันที่ต้องการจะสร้างเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าต่างชาติ เราจึงนำองค์ความรู้ที่มีมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครและสามารถต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจจนได้ผลลัพธ์เป็น ‘แผ่นปิดแผลเส้นใยนาโนไบโอเซลลูโลสเคลือบด้วยซิลเวอร์นาโนสีฟ้า ที่มีอนุภาค 100 นาโนเมตร ภายใต้ชื่อว่า 'BluRibbon’ ซึ่งเป็นวัสดุทางการแพทย์ที่ใช้ในการปิดแผล รักษาแผล ฆ่าเชื้อ และเป็นตัวบ่งบอกว่าควรจะเปลี่ยนแผ่นปิดแผลหรือไม่” อดิศร อาภาสุทธิรัตน์ กรรมการผู้บริหาร บริษัทโนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด กล่าว

การวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตนวัตกรรมแผ่นปิดแผล "BluRibbon" ต่อยอดจากเส้นใยไบโอเซลลูโลส (Nano-Biocellulose Technology)  ที่พัฒนาขึ้นจากการเลี้ยงแบคทีเรียด้วยข้าวไทย มีเส้นใยขนาดเล็กอยู่ในระดับนาโน ซึ่งเมื่อกลายเป็นร่างแหทำให้ช่องว่างระหว่างเส้นใย หรือ ปริมาณของรูพรุนสูง มีศักยภาพดูดซับน้ำได้ถึง 200 เท่า ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แผล เนื้อเยื่อที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ไม่ถูกทำลาย และสามารถกำจัดเนื้อตายทำให้แผลสะอาด

 

 ขณะเดียวกันทางโนวาเทคได้ต่อยอดด้วยการผสมสารคริสตัลเงินนาโนที่มีสีฟ้าตามขนาดอนุภาค จากแนวคิดของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคุณสมบัติในการลดอัตราการติดเชื้อของแผล ซึ่งมีใช้กันอย่างแพร่หลายทว่าความพิเศษของสารคริสตัลเงินนาโนที่ใช้ใน BluRibbon คือ "สีฟ้า" ถือเป็นตัวแรกในโลก ที่ใช้เป็น "ตัวชี้วัด" และบ่งบอกความรุนแรงของการติดเชื้อที่แผลบริเวณนั้นได้อีกด้วย โดยสีจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีฟ้าจนกลายเป็นสีเหลือง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าสารคริสตัลเงินนาโนหมดสภาพแล้ว ในระยะเวลาเพียง 3-7 วัน  แต่กระนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของแผล โดยตัวยาก็จะออกฤทธิ์ตามความจำเป็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์ ทำให้คนไทยเข้าถึงวัสดุปิดแผลที่ทันสมัยได้ง่ายขึ้น ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางมาทำแผลที่โรงพยาบาล และช่วยให้การทำแผลของแพทย์สะดวกขึ้น

 

 ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์อยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.ชนิดแผ่น นิยมใช้กับจำพวกแผลโพรงที่เกิดจากเบาหวาน อุบัติเหตุรุนแรงจนสูญเสียเนื้อเยื่อบางส่วนไป และแผลจากน้ำร้อนลวก หรือไฟไหม้ 2.ชนิดเจล ขนาด 15 กรัม เหมาะกับการใช้งานจำพวกแผลอุบัติเหตุเล็กน้อย

ติดปีกผลิตภัณฑ์ไทยสู่ต่างแดน

ที่ผ่านมาวางจำหน่ายตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ  อีกทั้งได้มีการขยายตลาดวางจำหน่ายในแถบ CLMV  อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน และรัฐบาล เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีเพียงผู้ที่ทำแผ่นปิดแผลที่ทำจากไบโอเซลลูโลสแต่ไม่มีการใส่ซิลเวอร์นาโนเข้าไป ซึ่งผลงานนี้นอกจากจะเป็นฝีมือของนักวิจัยไทยแล้ว วัตถุดิบเกือบทั้งหมดยังผลิตได้ในประเทศไทย ทำให้มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าวัสดุนำเข้าประเภทเดียวกันในท้องตลาดเกือบ 2 เท่า สามารถเพิ่มมูลค่าตัวผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดีรวมทั้งคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกิดความเชื่อมั่น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยแต่สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้อีกด้วย

 

จากข้อมูลพบว่าตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10% ต่อปี โดยในแต่ละปีไทยส่งออกวัสดุและครุภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกวัสดุทางการแพทย์มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 8.2 หมื่นล้านบาท  ส่วนครุภัณฑ์มีมูลค่าส่งออก 1.6 หมื่นล้านบาททุกปี ในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างบลูฯนั้นมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 5% และในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 10% สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 4 ล้านบาทจากตลาดในและต่างประเทศ พร้อมทั้งคาดว่าในปีนี้อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากนวัตกรรมเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเข้าถึงลูกค้าทั่วไปและตอบโจทย์กลุ่มโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ฝึกหัด ขณะเดียวกันก็ได้มีการขยายสู่ตลาดยุโรปเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งมีสินค้าชนิดใหม่เพิ่มเติม ทำให้ทางบริษัทเร่งเดินเครื่องเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่มในปัจจุบัน ส่วนกุญแจความสำเร็จของบริษัทคือการเป็นบริษัทอินโนเวชั่นที่ใช้องค์ความรู้จากนักวิจัยไทยมาสร้างนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับบริษัทจนนำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศแบบที่ไม่สามารถประเมินค่าได้” อดิสร กล่าวทิ้งท้าย

 

นับเป็นผลงานนวัตกรรมระดับโลกของคนไทย 100%  ที่ก่อนหน้านี้ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ปี 2555 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศด้วยการคว้ารางวัลเหรียญทองงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ  International Exhibition of Invention of Geneva 2012 ครั้งที่ 40 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์