ลุ้นทุน กสทช. 40 ล้านบาทสร้าง หุ่นยนต์ใต้น้ำโนว์ฮาวไทย
นักวิจัย มจพ.และเครือข่ายลุ้น กสทช.อนุมัติสนับสนุนทุนโครงการพัฒนายานสำรวจใต้น้ำ R.O.V. มูลค่า 40 ล้านบาท เผยใช้ประโยชน์หลากหลายทั้งการสำรวจจากโบราณคดี ทรัพยากรใต้น้ำ สภาพแวดล้อมจนถึงชิ้นส่วนเล็กๆ ผลงานล่าสุดช่วยภารกิจดีเอสไอ
นับเป็นครั้งแรกในไทยกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสำรวจใต้น้ำในรูปแบบ “ยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม” (Remotely operated underwater vehicle: ROV) เพื่อประโยชน์ทางคดีโดยช่วยในภารกิจค้นหา “วัตถุพยาน” หรือวัตถุต้องสงสัยในปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ จากภารกิจปกติเป็นการสำรวจความสมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านโยธาหรือโครงสร้างและถ่ายภาพใต้น้ำ พร้อมระบุตำแหน่งพิกัด โดยไม่ต้องใช้นักประดาน้ำ
สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล (CASME) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า การใช้ยานสำรวจใต้น้ำค้นหาพยานหลักฐานทางคดีบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานนี้ ได้รับติดต่อจากดีเอสไอโดยศูนย์สื่อสาร สำนักพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษ ที่เสาะแสวงหาเครื่องมือจากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยในภารกิจตามหาบิลลี่ ซึ่งรวมถึงการสำรวจหาวัตถุต้องสงสัยใต้น้ำ
ขณะที่ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการสำรวจ พร้อมทั้งให้บริการการสำรวจด้วยอากาศยานไร้นักบิน ยานอาร์โอวี และได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยผ่านกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงได้รับการประสานขอความร่วมมือจากดีเอสไอ จากนั้นก็วางแผนปฏิบัติภารกิจร่วมกัน เบื้องต้นกำหนดจุดให้ยานเข้าสำรวจ 2 จุด 2 วัน บริเวณใต้น้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาโดยรอบสะพานแขวน 100 เมตร ในวันแรกยานสำรวจใช้เวลา 6 ชั่วโมงใต้น้ำก็ทำการสำรวจจุดแรก และค้นพบวัตถุต้องสงสัยที่นำมาใช้ในการแถลงข่าว จึงเป็นการสำรวจเพียงจุดเดียว
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 คณะทำงานของอาจารย์สว่างทิตย์ได้นำยานขับเคลื่อนใต้น้ำ ROV สนับสนุนปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตหมูป่า ณ ถ้ำหลวง จ.เชียงราย มาแล้ว เพียงแต่ในครั้งนั้นสภาพพื้นที่เป็นถ้ำและดินโคลนใต้น้ำเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน อาจเกิดอันตรายกับทีมงานและสร้างความเสียหายให้ตัวเครื่อง จึงต้องเก็บกลับกรุงเทพฯ ต่างจากครั้งนี้ที่สภาพพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำ เอื้อต่อการทำงานของยานขับเคลื่อนใต้น้ำ
ภารกิจถ้ำหลวงกับเขื่อนแก่งกระจานใช้ยานสำรวจใต้น้ำคนละตัว ซึ่งมีความสามารถต่างกันตามลักษณะงาน โดยเครื่องที่เตรียมใช้กับถ้ำหลวงนั้น ติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับสำรวจหาสิ่งมีชีวิตและต้านแรงน้ำไหลได้ดี เป็นการพัฒนาฟังก์ชันใช้สอยร่วมกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ใช้กับเขื่อนแก่งกระจานเป็นเครื่องที่ มจพ.ทำวิจัยพัฒนาการใช้งานร่วมกับกองโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร ติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับสแกนหาวัตถุ หรือชิ้นส่วนทางโบราณคดี จึงเหมาะสมกว่า
อุปกรณ์เสริมดังกล่าว มีคุณสมบัติปลีกย่อยต่างกันคือ ตัวส่งสัญญาณโซนาร์หรือเครื่องส่งคลื่นเสียงความถี่สูง กล้องความละเอียดสูงและระบบสื่อสารกลับมายังคอมพิวเตอร์ควบคุม หลักการทำงานจะมีกล้องและตัวส่งสัญญาณคลื่นโซนาร์ ทำหน้าที่สแกนวัตถุใต้น้ำ ในรัศมีระยะ 50 เมตร ในระดับน้ำลึกสูงสุด 120 เมตร หรือราวตึก 10 ชั้น ส่งสัญญาณได้ไกล 120 กิโลเมตร
“ทีมงานใช้เวลา 7-10 ปี พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบโซนาร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสแกนหาวัตถุขนาดเล็กมากๆ ดังนั้นในสภาพน้ำที่ขุ่น โซนาร์ก็จะสามารถเห็นได้ว่าวัตถุดังกล่าวคืออะไร ขณะที่กล้องความละเอียดสูง จะทำหน้าที่ได้ดีในสภาพน้ำใส ที่ระยะเห็นภาพ 5 เซนติเมตร ก็สามารถบันทึกภาพ แล้วส่งแสดงบนหน้าจอได้ทันที ครั้งนี้น้ำค่อนข้างขุ่นจึงต้องยกให้โซนาร์เป็นพระเอก”
ขณะที่อาร์โอวีปฏิบัติภารกิจใต้น้ำ เหนือพื้นดินขึ้นไปก็มีโดรนของดีเอสไอทำงานควบคู่กัน เนื่องจากพื้นที่ที่สำรวจมีบริเวณกว้าง จึงควรเก็บภาพโดยรอบพื้นที่ทำงานของอาร์โอวีทั้งหมด เพื่อให้เห็นตำแหน่งของอาร์โอวี อีกทั้งตัวโดรนติดตั้งอุปกรณ์ระบุพิกัดความแม่นยำสูง เพื่อนำมาทำพิกัดแผนที่ให้รู้แน่ชัดได้ว่า วัตถุชิ้นใดอยู่ตรงไหน ช่วยให้ทีมนักประดาน้ำทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
สว่างทิตย์ อธิบายถึงการทำงานของศูนย์ฯว่า มีลักษณะเป็นเครือข่ายวิจัยที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ได้นำเข้ายานสำรวจอาร์โอวีมาพัฒนาเพิ่มฟังก์ชันใช้งานร่วมกัน 3-4 ตัว โดยหลักๆ แล้วใช้สำรวจดูความสมบูรณ์ใต้ท้องทะเล โครงสร้างใต้น้ำ และจะต่อยอดติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเพื่อติดตามการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ
“ทางมหาวิทยาลัยเสนอขอทุน 40 ล้านบาท สนับสนุนโครงการศึกษาพัฒนาต้นแบบยานสำรวจอาร์โอวีที่จะผลิตขึ้นในไทย ซึ่งอุปกรณ์ประกอบมีราคาแพงและเป็นเทคโนโลยีค่อนข้างซับซ้อน โดยปีนี้นำเสนอโครงการไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่วนปีก่อนหน้านั้นเสนอขอจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.เดิม)แต่ก็ไม่ได้รับอนุมัติ”
ปัจจุบันมียานสำรวจใต้น้ำติดตั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เซ็นเซอร์ เครื่องมือการเก็บตัวอย่าง เครื่องส่งโซนาร์ ระบบแสงสว่างและกล้องวีดิโอเพื่อบันทึกภาพใต้น้ำ โดยมีสายสัญญาณที่เชื่อมกับตัวยานสำรวจใต้น้ำ และจะใช้รีโมทเพื่อส่งสัญญาณควบคุมทิศทางของอุปกรณ์ โดยปกติแล้วจะใช้เพื่อการศึกษาทางธรณีวิทยาและการเรียนรู้ทางทะเล นอกจากนี้ยังสามารถใช้เครื่องมือขั้นสูงเพื่อการวัดและประเมินอุณหภูมิ การซึมผ่านของแสง และความใสของน้ำ
ขณะที่ยานต้นแบบที่เสนอขอทุนไปนั้น ยังสามารถขยายผลสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ไปให้หน่วยงานเทคโนโลยีต่างๆ ที่สนใจ รวมทั้งการพัฒนาโดยสถาบันการศึกษาจะต่อยอดใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งเพื่องานวิจัย เพื่อการเรียนการสอนและบริการสำรวจต่างๆ เป็นต้น จึงดีกว่าการพัฒนาโดยหน่วยงานเฉพาะด้าน หากไทยเรามีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสำรวจใต้น้ำและสามารถผลิตได้เอง จะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อเศรษฐกิจและประเทศ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-กสทช.ลุยเวิร์กช้อปเอไอหนุน5จี
-กสทช.คืนเงิน 'วอยซ์ทีวี' 372 ล้าน หลังจอดำ
-กสทช.ฟื้นไอเดียเก็บภาษี“โอทีที”
-กสทช. คืนเงินเยียวยา อสมท. 161 ล้านบาท