‘ชีววิทยาศาสตร์’ ไทยฮับอาเซียน ทีเซลส์ดึงเครือข่ายสุขภาพร่วมปั้น

‘ชีววิทยาศาสตร์’ ไทยฮับอาเซียน ทีเซลส์ดึงเครือข่ายสุขภาพร่วมปั้น

‘ชีววิทยาศาสตร์’ ไทยฮับอาเซียนภายใน 10 ปี ทีเซลส์เปิดฉากขับเคลื่อนผ่านงาน Bio Investment Asia 2019 นำเสนอความก้าวหน้าและขีดความสามารถของประเทศด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ เพื่อแสวงหาแนวทางการลงทุน

‘ชีววิทยาศาสตร์’ ไทยฮับอาเซียนภายใน 10 ปี ทีเซลส์เปิดฉากขับเคลื่อนผ่านงาน Bio Investment Asia 2019 นำเสนอความก้าวหน้าและขีดความสามารถของประเทศด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านชีววิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ เพื่อแสวงหาแนวทางการลงทุน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งทุนและเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ


ภายในงานยังลงนามความร่วมมือกับเอกชนทั้งไทยและนานาชาติ 3 ฉบับ กระตุ้นการพัฒนางานวิจัยให้พร้อมขยายสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย ทีเซลส์กับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เกี่ยวกับการจัดการเชื้อดื้อยา, ทีเซลส์กับและ บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและสุขภาพไปสู่ภาคธุรกิจ สุดท้ายเป็นการลงนามลงทุนร่วมด้านไบโอฟาร์มาของ KinGen Biotech กับไบโอ เจเนเทคฯ

ตลาดชีววิทยาศาสตร์โต 5.6%

นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลที่ตั้งใจจะเชื่อมโยงศูนย์กลางของนวัตกรรมและการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ จึงสานต่อนโยบายที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องให้ถึงระดับเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งไปที่โครงการวิจัยพัฒนายาจากสารสกัดธรรมชาติ เทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัด ผลิตภัณฑ์ชีวเภสัชภัณฑ์ ชีววัตถุ ตลอดจนพัฒนาสูตรตำรับยาสามัญ (generics) ด้วยเทคโนโลยีนำส่งยาที่ทันสมัย


เครือข่ายสุขภาพที่เป็นกลไกความร่วมมือ มีรูปแบบเป็นทั้งความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสตาร์ทอัพ ตลอดจนรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง


ภาพรวม ชีววิทยาศาสตร์ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการแสวงหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย มีผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมนี้ ทั้งยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง หุ่นยนต์และเครื่องมือแพทย์ เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของบริการทางการแพทย์และสุขภาพ

ทีเซลส์หนุนเรียนรู้กับธุรกิจข้ามชาติ


“ด้านการพัฒนาบุคลากร ชีววิทยาศาสตร์ รองรับนั้น ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ส่งนักเรียนทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ แต่ทีเซลส์คิดแตกต่างด้วยการส่งนักวิจัยไทยไปเรียนรู้ในบริษัทต่างประเทศ ไปเรียนเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเจรจานานกว่า 5 ปีกว่าจะมีการเซ็นสัญญาร่วมกัน โดยเราจะแบ่งประโยชน์ร่วมกันคือ เมื่อนักวิจัยได้องค์ความรู้จากบริษัทที่เรียนมาจนสามารถนำไปต่อยอดสู่นวัตกรรม หรือผลผลิตได้แล้วนั้นประเทศไทยจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรแต่เราจะมอบให้บริษัทต่างชาติเป็นผู้ใช้สิทธิ โดยส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทในกลุ่มวิจัยยาและยีน”


ชีววิทยาศาสตร์ เติบโตในไทยทั้งในด้านไลฟ์สไตล์และเฮลท์แคร์ ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตประมาณ 5.6% เนื่องจากมีตัวผลักดันที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เซลล์บำบัด ยีนบำบัดที่เข้ามาทดแทนยา ซึ่งโรคบางโรครักษาด้วยยาไม่หายเพราะฉะนั้นต้องแก้ที่พันธุกรรมจึงต้องใช้ยีน หรือ เซลล์ในการบำบัดแทน ซึ่งในขณะนี้นับว่าสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้จริง ขณะที่การลงทุนด้านการวิจัยโดยรวมของไทยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่ง 1 ใน 3 ของมูลค่าการลงทุนนั้นเป็นด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท


ทั้งนี้ Bio Investment Asia 2019 จัดคู่กับ Thailand LAB INTERNATIONAL จะสามารถกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจและช่วยให้เกิดการขยายตัวของการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในไตรมาสสุดท้ายของปี ระหว่างวันที่ 25-27 ก.ย.นี้ ณ ไบเทค ฮอลล์ คาดการณ์เฉพาะงานไทยแลนด์แล็บฯ จะมีมูลค่าการซื้อขายภายในช่วงการจัดงานกว่า 500 ล้านบาท