"ดีอี" จ่อถกนายกฯเข็น 5จี วาระแห่งชาติ
หวังเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลดึงดูดนักลงทุน
“พุทธิพงษ์” เผยหลัง กสทช.ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ชี้ต้องหาจังหวะถกนายกฯ เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลดูดนักลงทุนได้ ย้ำชัดที่ผ่านมา ดีอี-กสทช.ทำงานร่วมกันน้อยต้องนัดคุยให้ถี่ขึ้น ยันแม้ต่างฝ่ายทดสอบ 5จี ของแต่ละหน่วยงาน แต่ก็ไม่ซ้ำซ้อนเพราะเป้าหมายต่างกัน
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการรขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติ ว่า หากมีโอกาสจะพยายามหารือกับนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยอาจมีการเสนอรายละเอียดทั้งในเรื่องของรูปแบบ โครงสร้าง รวมถึงผลสัมฤทธิ์ที่ตามมาหลังจากที่ได้มีการผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ให้เป็นวาระแห่งชาติว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เช่น จะทำให้การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับรอง 5จีรวดเร็วขึ้น, ช่วยดึงดูงนักลงทุน และไม่เกิดการย้ายฐานการผลิต รวมถึงจะกระตุ้นให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) มีส่วนสำคัญอย่างมาก แต่ปัจจุบันต้องประสบปัญหาเรื่องการลงทุนในระบบ 3จี และ 4จีที่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้โอเปอเรเตอร์มีความเชื่อมั่น และมีความสนใจที่จะลงทุน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยจะล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปิน และสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและขับเคลื่อน 5จีไปแล้วก่อนหน้านี้
“เชื่อว่า การจัดการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป กสทช. จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประมูลให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้ 5จี เกิดขึ้น และไม่ทำให้ประเทศไทยต้องตกขบวน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะหากรีบร้อนที่จะก้าวสู่ 5จี เร็วเกินไปไม่เกิดประโยชน์ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานไม่ดีเท่าที่ควร” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
โดยจากนี้จะมีการหารือร่วมกับ กสทช. เป็นระยะ เพื่อให้การผลักดันการขับเคลื่อน 5จี ของทั้งกระทรวงดีอีเอส และ กสทช. เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายคนอาจมองว่า การดำเนินการทดลองทดสอบ 5จี ของทั้งสองหน่วยงานมีความซ้ำซ้อนกัน ขอยืนยัน ไม่ซ้ำซ้อนกันแน่นอน เพราะมีเป้าหมายในการทดลองทดสอบที่ต่างกัน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอน ที่ทั้งสองหน่วยงานมองว่าเหมาะสม และจะช่วยทำให้การขับเคลื่อน 5จี เป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานกสทช.ได้เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติ มีคณะทำงาน 10-15 คน ประกอบด้วยหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เพราะ 5จี จะเกิดประโยชน์อย่างมากในหลายอุตสาหกรรม จึงจำเป็นต้องดึงหน่วยงานที่จะได้รับประโยชน์ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน ทั้งนี้ มองว่าการจัดตั้งคณะทำงานชุดใหญ่ จะทำให้การทำงานไม่คล่องแคล่ว ส่งผลให้การขับเคลื่อนเป็นไปด้วยความล่าช้า
หากการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี ระดับชาติ ผ่านการเห็นชอบ เมื่อ กสทช. จัดการประมูลคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่พร้อมใช้งาน แต่ละหน่วยงานอาจต้องนำเสนอว่า จะนำ 5จีไปใช้งานในด้านใดบ้าง ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถลงทุนขับเคลื่อนได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะเริ่มจาก 5 ภาคส่วน (เซกเมนต์) ที่สำคัญๆ ก่อน ได้แก่ ภาคการเกษตร, ภาคอุตสาหกรรม, การสาธารณสุข, การขนส่ง และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เพื่อให้ 5จี เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาและลดต้นทุนในแต่ละภาคส่วนได้ก่อนดีกว่าจะรอให้เกิดขึ้นพร้อมกัน