พลิกบทบาท ‘ซีไอโอ’ สู้เกม 'ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น'
ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
"บทบาทของซีไอโอแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้กว่า 4 ใน 5 คนมีหน้าที่นอกเหนือไปจากการดูแลส่วนงานไอทีแบบเดิมๆ โดยต้องเข้ามาจัดการดูแลเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม การปรับปรุงองค์กร และแม้กระทั่งการตลาด และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในบางกรณี”
จายากริชนัน ศศิธาราน รองประธานฝ่ายโซลูชั่น อะโดบี กล่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะน่าสนใจ โดยเป็นผลมาจากความพยายามขององค์กรที่จะทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ด้วยขอบเขตกว้างขวางมากกว่าความถนัดของซีไอโอส่วนใหญ่ ซีไอโอจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการผสานรวมความสามารถที่มีอยู่เข้ากับเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมองค์กร และจะต้องขยายบทบาทหน้าที่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมทั้งจัดการความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และมุ่งเน้นการจัดการประสบการณ์ของลูกค้า
3 บทบาทพลิกโฉมองค์กร
สำหรับประเด็นด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องชี้นำการดำเนินการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ภายใต้มาตรการ 3 ข้อ
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ทำหน้าที่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง วันนี้บริษัทไม่ถึง 1 ใน 3 ที่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมหมายความว่า ซีไอโอจำนวนมากจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยปราศจากสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนและได้รับการตกลงร่วมกัน
ขณะที่ 2.ปรับใช้เทคโนโลยีที่มุ่งเน้นประสบการณ์ลูกค้า เนื่องด้วยประสบการณ์ลูกค้าเป็นจุดโฟกัสที่สมบูรณ์แบบสำหรับการดำเนินการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ช่วยเพิ่มรายได้ รักษาฐานลูกค้าและความภักดีที่ลูกค้ามีต่อบริษัท และเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขัน
สุดท้าย 3.ขยายการเปลี่ยนผ่านในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ 33% ของซีไอโอทั่วโลกระบุว่าตนเองได้พัฒนาโครงการทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลให้ครอบคลุมขอบเขตกว้างขวางมากขึ้น โดยมีแผนที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านช่องทางดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรธุรกิจ ซีไอโอรุ่นใหม่เหล่านี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องความสามารถในการปรับขนาดสำหรับการเลือกซื้อและการบูรณาการเทคโนโลยี เรื่องนี้ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) จะช่วยได้อย่างมาก
อลิสัน อายริ่ง นักจิตวิทยาองค์กรและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเปลี่ยนแปลง กล่าวไว้ว่า โดยมากแล้วผู้บริหารมักคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องถูกต่อต้าน ที่ผ่านมาการจัดการความเปลี่ยนแปลงจึงมักจะเป็นเป็นเรื่องของการเอาชนะกระแสต่อต้าน แต่ที่จริงแล้วความจำเป็นเร่งด่วนไม่ใช่การเอาชนะแต่คือการเสริมสร้างขีดความสามารถและสนับสนุนบุคลากรให้ปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
ก้าวข้ามอุปสรรค ไม่มองข้ามปัญหา
ศศิธารานบอกว่า ข่าวดีก็คือบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลในเอเชียแปซิฟิกพร้อมที่จะปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการยอมรับที่กว้างขวางกว่า(62%) เกี่ยวกับความจำเป็นในการใช้เอไอเมื่อเทียบกับบุคลากรในอเมริกาเหนือ(49%)
อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาว่าเอไอจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรและเทคโนโลยีขององค์กรในลักษณะใด และจะต้องฝึกอบรมบุคลากรให้เคารพความรู้และความสามารถที่มากมายของเอไอพร้อมทั้งจัดหาข้อมูลบริบทที่จำเป็นและความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งเอไอไม่สามารถลอกเลียนแบบความสามารถในส่วนนี้ของมนุษย์
“อย่าทำผิดพลาดเพราะไม่มีบทบาทใดที่จะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นได้มากเท่ากับซีไอโอแต่แม้ว่าจะมีเดิมพันที่สูงอย่างมากแต่ซีไอโอก็ไม่ควรมองข้ามปัญหาท้าทาย หรือชะงักงัน ทำอะไรไม่ถูก เมื่อพบเจอสิ่งต่างๆ ที่ไม่รู้จัก”
จากประสบการณ์ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมักจะเริ่มต้นจากสองสามขั้นตอนแรกที่เล็งเห็นคุณประโยชน์ทางธุรกิจ หลังจากนั้นจึงค่อยผลักดันให้มีการปรับใช้ทั่วทั้งองค์กร ซีไอโอรุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จมากกว่า ถ้าหากบริหารจัดการในลักษณะนี้ และฝึกอบรมผู้จัดการให้ทำอย่างเดียวกัน
นอกจากนี้ ซีไอโอควรสนับสนุนทีมงานให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอคติ คิดใหม่ทำใหม่เกี่ยวกับกระบวนการที่ทำเป็นประจำ และตัดสินใจโดยอ้างอิงข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่สามารถตรวจสอบเงื่อนไขในอนาคต
“ซีไอโอที่โฟกัสเรื่องการจัดการความเปลี่ยนแปลงในแนวทางใหม่ มุ่งเน้นเกี่ยวกับประสบการณ์ของลูกค้า และลงทุนในเทคโนโลยีที่ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น จะสามารถประสบความสำเร็จ เสริมสร้างศักยภาพรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับองค์กร”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-'แบงก์ดิจิทัล' สิงคโปร์ 'ผู้บริโภค' มีแต่ได้
-นับถอยหลังสู่ยุคดิจิทัล
-ดิจิทัลทำคนรุ่นใหม่ไม่ตกงาน
-ผลกระทบการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล