“ดีอีเอส”เตรียมพร้อมรับพรบ.ข้อมูลส่วนบุคคลฯ
กระทรวงดีอีเอสเร่งปูพื้นรับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ชี้ก่อนกม.บังคับใช้เต็มรูปแบบกลางปีหน้า ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน-องค์กร เพราะถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะมีผลเต็มรูปแบบในวันที่ 28 พ.ค.2563 นั้น ในระหว่างนี้กระทรวงฯจะเร่งดำเนินการได้เตรียมความพร้อมในการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปพลางก่อน
โดยได้สรุปให้ในช่วงแรกของการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะตั้งอยู่ที่ชั้น 7 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ โดยมีนางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนกว่ากระบวนการสรรหาจะแล้วเสร็จ ส่วนการตั้งคณะกรรมการของสำนักงาน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา
เขา กล่าวว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องใหม่ สำหรับหลายๆ องค์กร โดยในวันที่ 10 ต.ค. นี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะจัดให้มีการสัมมนาแนะนำกฎหมาย และสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเป็นการแนะนำกฎหมายและแผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ แห่งนี้ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุก ภาคส่วนถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานฯ และที่สำคัญเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับหลากหลายภาคส่วนในการยกระดับองค์กร ให้สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาข้อมูล ในด้านต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
พร้อมกันนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดีอี) วานนี้ (30 ก.ย.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า การประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน ได้แก่ 1.มีการรับทราบข้อมูลการเงินการคลังของกองทุน 2.รับทราบโครงการ จำนวน 195 โครงการ โดยแบ่งเป็นโครงการที่ยื่นก่อนระเบียบคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ... จำนวน 66 โครงการ ให้ยกเลิก แต่สามารถยื่นใหม่ได้ ส่วนอีก 130 โครงการที่ยื่นหลัง ถือว่าถูกต้องตามระเบียบ ไม่ต้องยื่นใหม่ แต่ต้องเข้าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
3.มีการเปิดรับโครงการเพื่อขออนุมัติเงินกองทุน ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2562 วงเงิน 2,000 ล้่นบาท 4.นำร่างสัญญาโครงการที่อัยการสูงสุดตีความแล้ว ว่าสามารถดำเนินการได้ให้ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไป และ 5.เกณฑ์การอนุมัติโครงการ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.ฟินเทค 2.เฮลท์เทค 3.โกเวอร์เม้นเทค 4.อินโนเวชั่นเทค 5.อาคิเทค 6.นวัตกรรม และ 7.พัฒนาบุคลากร (แมนพาวเวอร์)
โดยนายสมคิดได้กำชับว่าให้มีการผลักดันทุกโครงการโดยเร็วและรอบคอบ โดยต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนและผู้จัดการกองทุน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน และขอให้เปิดกว้างกับทุกหน่วยงาน ดังนั้น แผนงานต่อจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ จากเดิม 1 ชุดเป็น 3 ชุด โดยแบ่งออกเป็น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านสังคม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน