‘ธนาคารขยะ’ พื้นที่บ่มเพาะ ผู้นำรีไซเคิล สไตล์อินโดรามา
'ธนาคารขยะ’ จุดบ่มเพาะผู้นำรีไซเคิลตั้งแต่เป็นเยาวชนในโรงเรียน เรียนรู้เรื่องการคัดแยกประเภทพลาสติก จนถึงสร้างรายได้ผ่านการเก็บขยะ "อินโดรามา" ระบุเป็นหนึ่งใน
ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจในการระดมวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
โรงเรียนวัดกรอกยายชา จ.ระยอง โรงเรียนต้นแบบในการศึกษาดูงานด้าน ธนาคารขยะรีไซเคิล ของจังหวัด ได้รับสนับสนุนทุนและความรู้การจัดการขยะจาก “อินโดรามา” ตามแนวทางของโรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco-school) ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา นักเรียนสามารถจัดเก็บขยะในชุมชนได้รวม 2.17 หมื่นกิโลกรัม เป็นขวดพลาสติกพีอีที 2,208 กิโลกรัม และสามารถสร้างรายได้มากกว่า 43,113 บาท
ริชาร์ด โจนส์ รองประธานอาวุโส บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักของบริษัทให้ความสำคัญกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นคีย์ซัคเซสของการเปลี่ยนแปลง จึงมีโครงการบ่มเพาะเยาวชนตั้งแต่อายุ 9 ขวบในโรงเรียนผ่านกิจกรรมโครงการธนาคารขยะ มุ่งสอนเรื่องการรีไซเคิลและคัดแยกประเภทขยะพลาสติก การนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่และออมผ่านการเก็บขยะ ต่อไปในอนาคตเด็กเหล่านี้จะพัฒนาเป็นผู้นำด้านการจัดการขยะรีไซเคิลได้ถูกวิธี
เวทีสัมมนาหัวข้อ “แนวทางการลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน : ขวดพลาสติกรีไซเคิล สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม” ในงาน Pack Print International 2019 ผู้บริหารอินโดรามา กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตพลาสติกพีอีทีรายใหญ่ของโลก จึงมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืนและปลอดภัยผ่านบรรจุภัณฑ์พีอีทีที่ปลอดภัย ซึ่งใช้กันมานานในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ฉะนั้น ประเทศไทยก็น่าจะได้พิจารณาในเรื่องนี้เช่นกัน เพื่อที่จะสามารถดำเนินการรีไซเคิลพีอีทีได้อย่างเต็มสูบ
พลาสติก PET เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ พลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลสูงสุด เนื่องจากสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง 100% และนำมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในหลายรูปแบบ รวมทั้งมีมูลค่าการรับซื้อสูง โดยมีอัตราการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 4% บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก PET ยังมีความปลอดภัย สะดวก ช่วยยืดอายุและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากพอลิเมอร์ในพีอีทีมีคุณสมบัติเสถียร ไม่ไวต่อปฏิกิริยาเคมีและน้ำหนักเบา จึงช่วยให้ประหยัดทรัพยากร ลดต้นทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขณะขนส่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือ พีอีทีเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด ยิ่งกว่าแก้ว หรือกระดาษ เพราะมีคาร์บอนฟุตพรินท์น้อยกว่า และเป็นผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้มากที่สุดในโลก
“พลาสติก ถูกมองเป็นผู้ร้ายหลัก แต่จากการแยกประเภทขยะแล้ว จะพบว่าเป็น เศษอาหาร 44% กระดาษ 17% พลาสติกอื่นๆ 11% แก้ว กระจก 5% โลหะ 4% เศษไม้ 2% ส่วนพลาสติกพีอีทีมีสัดส่วนเพียงแค่ 1% ของขยะเท่านั้น”
จากการขาดการรับรู้และการตระหนักถึงปัญหา ทำให้ผู้บริโภคมุ่งความสนใจไปในวาระสุดท้ายของบรรดาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ แทนที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งหมด ซึ่ง 90% ของผลกระทบต่อวัฏจักรชีวิตคือผลิตภัณฑ์ โดยมีบรรจุภัณฑ์เกี่ยวเนื่องด้วยในอัตรา 10% ขณะเดียวกันใน 10% ของผลกระทบที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์คือ “การจัดการ” หากมีการจัดการทำให้สามารถยืดเวลาในการเก็บผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้นเพียง 1 วันก็จะสามารถหลีกเลี่ยงขยะจากอาหารจำนวนที่อาจมากถึง 0.2 ล้านตันต่อวัน
อินโดรามา จึงกำหนดยุทธศาสตร์การนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การสร้างนวัตกรรมและการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบ
ผลิตภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบา คุณภาพสูง ทั้งยังใช้คาร์บอนในการผลิตต่ำและคำนึงถึงขั้นตอนการใช้งาน การควบคุม การจัดการที่รัดกุม, การใช้วัตถุดิบทางเลือก คือวัตถุดิบตั้งต้น ที่นำกลับมาใช้และวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ที่นำกลับมาใช้แทนของเดิม, ขั้นตอนการรีไซเคิล มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้กับการจัดการขยะ ไม่ว่าจะเป็น การนำเข้าเทคโนโลยีจากยุโรป เยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะ จนจะนำไปสู่การใช้พลาสติกพีอีทีอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
rPET เม็ดพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิล
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ยื่นข้อเสนอให้ปลดล็อคกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในประเทศไทยยังต้องผลิตขึ้นจากพลาสติกผลิตใหม่ทั้งหมด ส่งผลต่อปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและก็ไม่มีทางที่โลกใบนี้หรือประเทศไทยเราจะหมดสิ้นจากขยะพลาสติกไปได้ อินโดรามาจึงทำได้เพียงแค่ส่งออก rPET เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพ ไปยังต่างประเทศอย่างเช่นออสเตรเลียแทนการขายในประเทศ
ในขณะที่ประเทศชั้นนำในอีกซีกโลกอย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย และฝั่งเอเชียคือ ญี่ปุ่น ชูประเด็นการจัดการขยะขวดพลาสติกด้วยการ ‘รีไซเคิล’ และนำเม็ด
พลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิล (rPET) มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม แต่ประเทศไทย ซึ่งกำลัง ‘อิน’ กับกระแสรักษ์โลกร่วมรณรงค์งดใช้
พลาสติกประเภท single-use plastics กลับมีความย้อนแย้งในวิธีคิดและการลงมือทำในประเด็นที่โลกทั้งใบกำลังเดินหน้าไป นั่นคือ ไทยมีกฎหมาย ห้าม ใช้ rPET มาผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม
กฎหมายที่ว่าเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 ข้อ 8 ประกาศไว้เมื่อ พ.ศ. 2548 สิบสามปีมาแล้ว ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” จึงทำให้ rPET เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้จากขยะขวดพลาสติก PET ไม่สามารถนำกลับมาผลิตขวดเครื่องดื่มได้อีกต้องนำไปผลิตเป็นสินค้าอื่นที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
แล้วทราบกันหรือไม่ว่าแต่ละปี ใช้เม็ดพลาสติกใหม่มาผลิตขวด PET เพื่อบรรจุเครื่องดื่ม มีจำนวนเท่าไหร่ หยิบตัวเลขปีล่าสุด 2560 มาโชว์ บรรจุภัณฑ์ขวด PET ถูกผลิตออกสู่ตลาด 3.2 แสนตัน และจำนวนไม่ถึงครึ่งของขวด PET เหล่านี้ถูกนำกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ที่เหลืออีกเป็นแสนกว่าตันต้องนำไปฝังกลบในดิน หลุมขยะขยายพื้นที่เป็นภูเขาขยะหลายแหล่งในเมืองไทย เป็นปัญหาการจัดการขยะที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ขยะพลาสติกในภูเขาขยะเหล่านั้น บางส่วนก็ถูกธรรมชาติทั้งลมทั้งฝนพัดพาเล็ดลอดไปลงแม่น้ำลำคลองสุดท้ายก็ผ่านไปสู่ทะเล